วันที่ 7 พ.ย.2566 : น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง (อว.),น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง (อว.),รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมประชุม Belt and Road Conference on Science and Technology Exchange ครั้งที่ 1 ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยของกระทรวงหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ จำนวน 24 ประเทศจาก 70 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม
น.ส.ศุภมาสฯ เปิดเผยว่า ได้เข้าประชุมเรื่อง Building Closer Belt and Road Partnerships on Science, Technology and Innovation โดยตนหยิบยกประเด็น “การเชื่อมโยงประชาชนของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยการกระชับการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” รวมถึงในเรื่องของการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย และความร่วมมือที่จีนได้เห็นชอบให้นำอุปกรณ์ตรวจวัดสภาวะอวกาศ (Space Weather Sensor) ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) กระทรวง อว.พัฒนาขึ้นซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศไทยขึ้นไปกับยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ-7 ที่มีกำหนดการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2569 ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศที่สำคัญ รวมทั้งร่วมมือรับความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาสีเขียว ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) พลังงานสะอาด ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีอวกาศ
รมว.กระทรวง (อว.) กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนได้เข้าร่วมประชุม A Path toward Future-Oriented Innovation-Driven Development และกล่าวในหัวข้อ “การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขจัดความยากจน” โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้ยกตัวอย่างที่กระทรวง (อว.) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปแก้ปัญหาความยากจนผ่านโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ “U2T” โดยให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว.เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาอาชีพ
“กระทรวง (อว.) ได้สนับสนุนให้มีการริเริ่มสร้าง platform หรือโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการถอดบทเรียนความสำเร็จของประเทศจีนและยินดีร่วมมือกับประเทศจีนและนานาประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” น.ส.ศุภมาสฯ กล่าว