เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2566 : กรมศุลกากรตรวจยึดเฮโรอีน (Heroine) และยาบ้า ซุกซ่อนมาในพัสดุไปรษณีย์เตรียมส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย มูลค่า 3.87 ล้านบาท ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบส่งยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักรไปยังต่างประเทศ มีแนวโน้มที่ผู้กระทำความผิดจะเปลี่ยนวิธีการส่งออกจากเดิมที่มีการส่งออกจำนวนมากๆ ต่อการส่งในแต่ละครั้ง เป็นทยอยส่งจำนวนน้อยลงทางพัสดุไปรษณีย์ เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ กรมศุลกากรจึงเฝ้าระวังการลักลอบการส่งยาเสพติดผ่านการขนส่งทางพัสดุไปรษณีย์ทั้งภายในและภายนอกประเทศทางอากาศยาน และช่องทางอื่นๆ อย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายด้านปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ กรมศุลกากรร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCE)ประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดซุกซ่อนมาในพัสดุไปรษณีย์ ทั้งการนำเข้า – ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ล่าสุด เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ร่วมกันวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องจำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ โดยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 พบพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศมีความเสี่ยงสูง สำแดงชนิดสินค้า เป็น Clothes, Dry Food จำนวน 1 หีบห่อ ปลายทางประเทศออสเตรเลีย จึงทำการเปิดตรวจกล่องพัสดุ พบ ซองขนมช็อคโกแลต มีลักษณะที่ผิดปกติ จึงทำการตรวจสอบ ผลปรากฏว่าพบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ยาบ้า (Amphetamine) เม็ดสีชมพูและเขียว ซุกซ่อนอยู่ภายในซองขนมดังกล่าว จำนวน 2,000 เม็ด มูลค่า 60,000 บาท และในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 พบพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศสำแดงชนิดสินค้าเป็น Notebook 3, Paper 2, Pen 2 จำนวน 1 หีบห่อ ปลายทางประเทศออสเตรเลีย มีความเสี่ยงสูงจึงทำการเปิดตรวจกล่องพัสดุ พบหนังสือมีลักษณะที่ผิดปกติ จึงทำการตรวจสอบ ผลปรากฏว่าพบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ซุกซ่อนอยู่ในปกหน้าและปกหลังของหนังสือ นำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,270 กรัม รวมมูลค่า 3,810,000 บาท โดยทั้ง 2 กรณี มีมูลค่ารวมประมาณ 3.87 ล้านบาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรณีนี้เป็นความผิดมาตรา 242 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564
ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ประสานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เพื่อติดตามและขยายผลต่อไป สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติด ปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 6 พฤศจิกายน 2566) มีทั้งหมด 16 ราย มูลค่ารวมประมาณ 61,629,000 บาท