จากกรณีมีการแชร์ข้อมูลการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งสุรา เบียร์และไวน์ ปรับอัตราภาษีตามปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ล่าสุด อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันการยกร่าง พ.ร.บ.ภาษีฉบับใหม่ จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ และประชาชน โดยการจัดเก็บจริงจะไม่สูงตามเพดานภาษีสูงสุด
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงกรณีมีการแชร์ข้อมูลการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งสุรา เบียร์ และไวน์ ตลอดจนสินค้าและบริการต่างๆ มีการปรับอัตราภาษีที่สูงขึ้นจากเพดานเดิมเป็นเท่าตัวนั้นว่า อัตราดังกล่าวเป็นการคำนวณจากเพดานจัดเก็บภาษีสูงสุด โดยยึดหลักจากการคาดการณ์ค่าเงินรองรับอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า แต่การจัดเก็บภาษีจริงนั้น จะไม่สูงตามเพดานนั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้นๆ ที่ต้องกำหนดอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่า จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่จะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาระผู้ประกอบการและประชาชน
สำหรับหลักคิดคำนวนภาษี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่าได้ปรับวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่จากราคาขายส่งหน้าโรงงาน เปลี่ยนมาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ โดยเฉพาะสุราจะยึดแนวคิดตามหลักสากล ตามปริมาณแอลกอฮอล์ ถ้าดีกรีสูงก็ต้องจ่ายแพง เพื่อสะท้อนเรื่องสุขภาพของประชาชน โดยโครงสร้างภาษีใหม่ เบียร์ และไวน์ จะมีการปรับอัตราภาษีตามปริมาณจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท เพิ่มขึ้น 0.5 เท่า, และปรับอัตราตามมูลค่าลดลงจากร้อยละ 60 และร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 30, ส่วนเพดานอัตราภาษีตามปริมาณของสุรา ปรับเพิ่มจาก 400 บาท เป็น 1,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า หรือร้อยละ 150, ส่วนอัตราตามมูลค่าร้อยละ 30 ลดลงจากร้อยละ 50
ขณะที่กฎหมายปัจจุบัน อัตราภาษีของเบียร์ตามมูลค่า เพดานสูงสุดที่ร้อยละ 60 แต่จัดเก็บจริงร้อยละ 48 ส่วนไวน์ เพดานอยู่ที่ร้อยละ 60 จัดเก็บจริงร้อยละ 0 – 36 และสุรากลั่น อยู่ที่ร้อยละ 50 จัดเก็บจริงร้อยละ 4-25
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติภาษีกรมสรรพสามิตใหม่ อยู่ในกระบวนการนำทูลเกล้าฯถวายลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับภายใน 180 วัน ซึ่งขณะนี้ทางกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการทำจัดทำกฎหมายลูก หรือ อนุบัญญัติ เพื่อให้สอดรับกับ พรบ.ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยทั้งหมดมีประมาณ 80 ฉบับ ในพิกัด 16 สินค้า และบริการ 5 ประเภท และเมื่อมีการประกาศบังคับใช้แล้วจะตีพิมพ์กฎหมายเป็นสองภาษาทั้ง ไทย และ อังกฤษ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำงานร่วมกับ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม เพื่อทำความเข้าใจ และให้ความรู้กับประชาชน
ส่วนกรณีกลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายย่อย ได้ยื่นข้อเสนอต่อกรมสรรพสามิต เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การผลิตคราฟต์เบียร์ของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทย ทำได้อย่างถูกกฎหมายนั้น อธิบดีกรมสรรพสามิต ยังเปิดเผยว่า พรบ.ภาษีฉบับใหม่ ยังไม่มีการลงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับกรณีผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายย่อย ซึ่งได้ติดตามข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ข้อมูลตัวเลข รายได้ภาษีสรรพสามิตรวมทุกประเภท ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 พบว่า จัดเก็บภาษีได้ 132,056 ล้านบาท โดยประเภทที่จัดเก็บได้สูงสูดคือ ภาษีน้ำมัน รองลงมาเป็น ภาษีรถยนต์, สุรา, เบียร์, ยาสูบ และภาษีอื่นๆ ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ 2,153 ล้านบาท หรือ คิดเป็นลบร้อยละ 1.6 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติการจัดเก็บรายได้ ไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2559 พบว่า ปีนี้จัดเก็บได้มากกว่า 4,856 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.82