เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) : พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธ์ุเพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.(ปป.) เปิดเผยว่า “จากกรณีที่ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกคำสั่งให้ ผกก.สภ.ช้างเผือก ไปช่วยราชการ ศปก.ภ.จ.เชียงใหม่ และมีการสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภ.จ.เชียงใหม่ เข้าจับกุมร้านจำหน่ายสุราในพื้นที่ของ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ นั้น
กรณีดังกล่าวตน ได้สั่งการไปที่ ผบช.ภ.5 ว่า เนื่องจากกรณีดังกล่าวนั้น ต้องพิจารณาด้วยความละเอียด รอบคอบ และต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติทุกนาย เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจากหน่วยงานใด ที่มีหน้าที่และตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายสถานบริการ ต่างฝ่ายก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และถือเป็นการช่วยเหลือในการทำงานซึ่งกันและกัน
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีตำรวจ ที่มีหน้าที่ตรวจตรา ดูแลความสงบเรียบร้อย ก็ต้องหมั่นตรวจตรา ดูแล มิให้มีการฝ่าฝืนกระทำผิดตามกฎหมายต่างๆในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพราะในแต่ละท้องที่ก็จะมีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นหลายประเภทและมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งล้วนแล้วแต่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ตำรวจจึงมีภาระหน้าที่ที่กว้างขวางมาก การตรวจตราสถานบริการหรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการจึงเป็นเพียงหน้าที่หนึ่งเท่านั้น ตำรววจยังต้องมีภาระหน้าที่ที่ต้องตรวจตราและป้องกันอาชญากรรมอีกหลายด้าน เช่น ออกตรวจตราในยามค่ำคืน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องกลับบ้านในเวลาค่ำคืนในพื้นที่หรือเส้นทางที่มีความล่อแหลมในการเกิดอาชญากรรม การช่วยเหลือประะชาชนที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การสกัดกั้นยาเสพติดที่มักจะลักลอบลำเลียงในเวลาค่ำคืน และภาระหน้าที่อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาระหน้าที่ที่ตำรวจต้องปฏิบัติทั้งนั้น ดังนั้น
เรื่องนี้ แท้จริงแล้วเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันตรวจตรา กวดขันและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ให้เกิดการฝ่าฝืนกฎหมายสถานบริการและกฎหมายอื่นด้วย หากพบการกระทำผิด ก็ต้องมีการร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย อีกทั้งการตรวจตรา สุ่มตรวจสถานบริการ ทางฝ่ายปกครองก็ตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ และเป็นชุดเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่นี้โดยตรง อันเป็นการช่วยแบ่งเบาภารกิจของตำรวจ ส่วนความผิดฐานอื่นเช่น การกระทำผิดเรื่องปล่อยให้เด็กและเยาวชนเข้าไปใช้บริการ มีการลักลอบใช้ยาเสพติด หรือมีการพกพาอาวุธเข้าไปในสถานบริการ นั้น นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ด้วยการตรวจตราและป้องกัน อย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายใดๆเกิดขึ้นภายในสถานบริการของตนเอง ซึ่งผู้ประกอบเมื่อมีรายได้จากสิ่งเหล่านี้ ก็ควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กันไปด้วย
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า ดังนั้น ในกรณีที่สั่งให้ข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการ จากเหตุที่มีหน่วยงานอื่นไปจับกุม ทั้งเรื่องสถานบริการ อบายมุข บ่อนการพนันนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาและทบทวนเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของหัวหน้าหน่วยงานนั้นก็สมควรพึงกระทำเพื่อให้รู้ว่ามีข้าราชการตำรวจนายใดเข้าไปเรียกรับผลประโยชน์หรือปล่อยปละละเลยอย่างไรหรือไม่ หากพบข้อเท็จจริงว่ากระทำผิด ก็สมควรที่จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยและทางปกครองต่อไป
ในฐานะที่ตนรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามมีหน้าที่ดูแลลักษณะงานความผิดต่างๆและความผิดตาม กฏหมายสถานบริการ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน กฎ กติกา ที่หากเกิดความบกพร่องจากการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้บังคับบัญชาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยตามคำสั่ง ตร.ที่ ”1212 / 2537 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2537