เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ณ UOB Plaza Bangkok ห้อง Auditorium ชั้น 5 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี Business Innovation Center (BIC) จัดกิจกรรม “Pitching & Meet Investors” ภายใต้โครงการ “สร้างผู้ประกอบการใหม่ด้วยนวัตกรรม (TechBiz Starter)” ประจำปี 2566 พร้อมประกาศรางวัล TechBiz Starter Funds ซึ่งปีนี้ได้รับการสนับสนุนทุนรางวัลจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนและต่อยอดกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถสร้างรากฐาน ดำเนินธุรกิจอย่างมีทิศทางและสร้างโอกาสขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง
นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) เล็งเห็นความสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ จึงจัดให้มีกิจกรรม Pitching Business Model ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญ ที่จะสร้างโอกาสและประสบการณ์ทางธุรกิจ ได้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการที่เป็นนักลงทุน นักธุรกิจผู้มีประสบการณ์ในการเริ่มต้นและพัฒนาธุรกิจ อาทิ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด,บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน),บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน),ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน),บริษัท ซีนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี จำกัด,บริษัท กรีนร็อกเกต วีซี จำกัด,บริษัท มีเดีย รีพับบลิค จำกัด,บริษัท จันวาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด,บริษัท แมกซ์ เวนเจอร์ส จำกัด และองค์กร นิวเอนเนอร์จี้ เน็กซัส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (สวทช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ/นักวิจัยที่สนใจจะสร้างหรือขยายธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม ตลอดจนผู้สนใจที่มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบและต้องการจัดตั้งธุรกิจ ให้มีการวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบและเติบโตได้อย่างยั่งยืนจึงร่วมกับองค์กรพันธมิตรข้างต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเสนอโมเดลธุรกิจที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ต่อไป
“สำหรับปีนี้ทาง (สวทช.) ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งในการสนับสนุน Startup อีกหนึ่งกำลังสำคัญได้แก่ New Energy Nexus ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่ช่วยบ่มเพาะและสนับสนุนการสร้าง ผู้ประกอบการ Startup ด้านเทรนด์เทคโนโลยีกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) ในทุกระดับ ให้สามารถเข้าถึงความรู้เชิงลึกจากวงการ Startup ทั่วโลก ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินทุน เข้าถึงเทคโนโลยี ผ่านโครงการต่างๆ ขององค์กรได้รวมไปถึงจัดให้มีกิจกรรมพบที่ปรึกษาแนะนำแนวทางในการประกอบธุรกิจ จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงเฉพาะด้าน กิจกรรมพบผู้เชี่ยวชาญราย Sectors ศึกษาดูงานแยกตามกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย BCG 5 กลุ่ม ดังนี้ ธุรกิจดิจิตอลซอฟต์แวร์ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจสื่อสาร ธุรกิจด้านอาหาร โดยนำแนวคิดการประกอบธุรกิจมาปรับใช้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเพิ่มโอกาสการประสบความสำเร็จทางธุรกิจในอนาคต การถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งกลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้จะสามารถเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดที่เป็นระบบ”
นางศันสนีย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางในการดำเนินการโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ด้วยนวัตกรรม (TechBiz Starter 2566) ทาง BCI ได้เน้นกระบวนการฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้วยหลักสูตรดังกล่าวข้างต้นกว่า 66 ชั่วโมง เพื่อให้ได้แผนธุรกิจรายบุคคลที่พร้อมใช้งานได้จริง และสามารถเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจในขั้นต่อไปและการพัฒนาธุรกิจให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยผ่านช่องทางเครือข่ายหน่วยงานของ (สวทช.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โอกาสในการออกงานนิทรรศการแสดงสินค้าต่างๆ โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และโอกาสในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมกับความต้องการในการเริ่มดำเนินธุรกิจหรือขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับกิจกรรม “Pitching & Meet Investors” มีผู้ประกอบการ 22 รายที่ผ่านการคัดเลือก และคณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานที่ได้รับคะแนนสูงสุด เพื่อรับรางวัล TechBiz Starter Funds โดย รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ดร.จีราพร ลีลาวัฒนชัย ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน (RNM) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) (สวทช.) จากผลงานชุดทดสอบการฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดันไอน้ำ รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท และรับรางวัล Investor Awards 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายณัฐพงศ์ ซื่อวิริยพันธุ์ บริษัท แพค เทคโนเวชั่น จำกัด จากผลงานระบบบริหารจัดการระบบผลิตน้ำร้อนและการใช้พลังงานแบบดิจิทัล รับเงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 นายฐานันต์ แก้วดิษฐ์ บริษัท ไวท์ ไท เกอร์ คิง จำกัด จากผลงาน นมถั่วลายเสือ รสโยเกิร์ตชนิดผง รับเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท
ดร.จีราพร ลีลาวัฒนชัย ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) (สวทช.) เปิดเผยภายหลังได้รับรางวัลชนะเลิศ ว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่คณะกรรมการเห็นคุณค่าในผลงานที่ตนตั้งใจพัฒนาและมุ่งมั่นทำมาอย่างยาวนาน การได้รับรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งตนจะพยายามพัฒนาผลงานชิ้นนี้ต่อไป และจะผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จริงในอนาคต
“ในฐานะเป็นนักวิจัย Techbiz Starter เป็นโครงการที่ช่วยให้มีมุมมองว่าจะทำงานวิจัยอย่างไรให้ตอบโจทย์ภาคเอกชนมากขึ้น การเข้าร่วมโครงการนี้เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้การทำ Market Research ทำให้เราสามารถออกแบบผลงานตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ตรงจุดอย่างแท้จริง รวมทั้งได้ศึกษาเรียนรู้การทำงบการเงิน เพื่อดูว่าผลงานที่เราพัฒนาขึ้นมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจหรือไม่ และยังได้เรียนรู้เรื่องการขยายตลาดด้วย ถือเป็นการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคต และการมา Pitching บนเวทีครั้งนี้ยังถือเป็นตัวเชื่อมให้ได้พบกับภาคเอกชนที่มีความสนใจในเทคโนโลยีของเรา อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำเชิงธุรกิจจากคณะกรรมการสามารถนำไปต่อยอดผลงานได้อีกด้วย” ดร.จีราพร กล่าว
“สำหรับชุดตรวจใช้แล้วทิ้งสำหรับทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดันไอน้ำ ASSURE เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและพัฒนาขึ้นภายในประเทศ มีต้นทุนการผลิตต่ำ ได้มาตรฐาน ISO 13485 ใช้งานง่าย ตรวจวัดผลได้แม่นยำ มีประสิทธิภาพเทียบเท่าผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีราคาแพง สามารถนำไปใช้ในโรงพยาบาล คลินิก ห้องปฏิบัติการ และภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เพื่อช่วยให้ทราบผลและมีหลักฐานแสดงการตรวจสอบหม้อนึ่งฆ่าเชื้อความดันไอน้ำ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกสบาย ในการอ่าน เก็บรักษา และนำส่งผล ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องผ่าน Application บนโทรศัพท์มือถือ โดยการสแกน QR Code บนชุดตรวจแต่ละชิ้น ซึ่งไม่เหมือนกับชุดตรวจนำเข้าอื่นๆ ที่ต้องอ่านและบันทึกผลด้วยเครื่องอ่านเฉพาะที่มีราคาแพง” ดร.จีราพรฯ กล่าวทิ้งท้าย