ประสบความสำเร็จยืนหนึ่งในฐานะ LGBTQ+ ที่หลายคนให้การยอมรับในความสามารถ สำหรับพิธีกรฝีปากกล้า “ก๊อตจิ ทัชชกร บุญลัภยานันท์” หรือ “ก๊อตจิ เทยเที่ยวไทย” ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ต้องผ่านร้อยเรื่องดราม่า เพราะเกิดมามีอุปสรรคในอดีต ที่น้อยคนนักจะยอมรับในเพศสภาพ แต่เธอก็ยืนยันมั่นคงพร้อมเล่าประสบการณ์ชีวิต เปิดใจผ่านรายการ “โต๊ะหนูแหม่ม” กับพิธีกรคนเก่ง “หนูแหม่ม สุริวิภา” ย้อนเล่าอดีตการต่อสู้กับการเป็นLGBTQ+ ที่ครอบครัวถึงขั้นพาเธอไปพบจิตแพทย์เพื่อให้ผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต
ย้อนเล่าชีวิตตอนเด็กต้องเจอดราม่าเยอะ เพราะเติบโตมาในชุมชนใหญ่ ที่อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับ?
“สมัยก่อนหนูเป็นลูกคนเดียว อยู่ในซอยเล็กๆเป็นตึกแถว แถวบ้าน ก็จะมีลูกๆบ้านอื่นในวัยเดียวกันคุณพ่อก็จะไปเกณฑ์มา ก็จะไปเรียกให้มาเล่นกับหนู รวมๆกันประมาณ 10-20 คน ส่วนมากก็จะเป็นกลุ่มผู้หญิงที่มาเล่นด้วยกัน เพราะว่าหนูไม่ค่อยชอบเล่นกับผู้ชาย เพราะผู้ชายชอบเล่นเตะบอลซึ่งหนูไม่ชอบ มันไม่ใช่จริตของเราแต่เคยเล่นเตะบอลอยู่ครั้งหนึ่ง แล้วเราเล่นไม่เก่งให้หนูเป็นกองหน้าก็เล่นไม่ได้ ปีกก็เล่นไม่ได้เค้าก็เลยให้หนูเป็นโกลว์ มันไม่ติดอัดหนูค่ะ มันเตะใส่หน้าหนูเลยค่ะ หน้าหนูที่เป็นเหมือนทุกวันนี้เพราะโดนบอลเตะบอลอัดค่ะ (หัวเราะ)”
พื้นฐานของเราเป็นยังไง รู้ตัวเองเลยมั้ยว่าเราชอบอะไร?
“ตอนเด็กๆ ถ้าจะให้พูดนะก็เป็นเหมือนเด็กผู้ชายที่เรียบร้อย ครูก็จะเขียนในสมุดพกว่า เป็นเด็กที่มีพฤติกรรมเรียบร้อยก็จะเป็นลักษณะแบบนี้มา หนูก็ทำไม่ได้วี๊ดว๊ายมากมาย ดูอาจจะเรียกว่ารู้จักกาลเทศะหน้าที่ของเรามากกว่า หน้าที่ของเราคือการเรียน เรื่องที่หนูเป็น LGBTQ+ หนูว่าครอบครัวหนูรู้มาโดยตลอด ครอบครัวหนูรู้ตั้งแต่หนูเด็ก พ่อแม่หนูเค้าก็รู้แต่เค้าไม่มาพูดกับหนูตรงๆ เค้าก็เลี้ยงหนูมาอย่างดีและทำหน้าที่พ่อแม่มาโดยตลอด เมื่อถึงเวลามันก็จะเป็นเวลาของมันไปเอง”
ตอนเด็กๆทางครอบครัววางแผนไว้ให้เรายังไงบ้าง?
“คุณพ่อเป็นคนวางแผนให้หนูตั้งแต่เด็ก เค้าก็จะวางว่าเราต้องเรียนที่ไหนอะไรยังไง เป็นปกติที่ต้องวางแผนว่าให้เราเรียนโรงเรียนชายล้วน ซึ่งหนูก็เรียนโรงเรียนชายล้วน เพราะว่าตอนนั้นคุณพ่อก็เริ่มสังเกตุแล้วว่าเรามีพฤติกรรมแบบนี้ เค้าก็คิดว่าถ้าไปโรงเรียนชายล้วนมันอาจจะช่วย แต่ประทานโทษนะคะ คุณพ่อคุณแม่ทั่วประเทศไทยทั้งหลาย อยากฝากบอกเลยว่า อย่างหนูถ้ามีพฤติกรรมน่ารักๆแบบหนู หนูก็จะไม่เล่นกับผู้ชายแล้ว หนูก็จะไปจับกลุ่มคนที่เป็นแบบพวกเรามารวมกัน ก็รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่คนแบบพวกหนู ได้กลุ่มใหญ่กว่าเดิม อันนี้ต้องบอกเลยว่ามันไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา แต่สมัยก่อนผู้ใหญ่อาจจะคิดแบบนี้ พ่อก็จะวางไว้ทุกอย่างแต่ว่าเค้าก็ไม่ได้กะเกณฑ์ไว้ว่าเราโตขึ้นเราจะเป็นอะไร เข้าแค่วางทางเดินเฉยๆแล้วให้หนูเป็นคนเลือก”
แล้ววันที่แกรนด์โอเพนนิ่งบอกกับครอบครัว ณ ตอนนั้นเป็นยังไง?
“คือเรื่องครอบครัวหนูว่ามันน้อยคนมากนะที่จะมีคนเดินไปบอกว่า คุณพ่อครับคุณแม่ครับผมเป็นLGBTQ+ มันค่อนข้างที่จะน้อย ส่วนใหญ่มันจะระแคะระคายมาจากข้างนอก นอกครอบครัวของเราคนข้างบ้านบ้าง ป้าข้างบ้านบ้าง มันเป็นอย่างนี้ แต่ในส่วนของหนูอันนี้ต้องเรียนตามตรงว่า คุณครูเป็นคนบอก อันนี้หนูไม่ได้โทษเค้านะคะเพราะว่ามันเป็นหน้าที่ของเขา หนูเข้าใจนะคะคุณครูทำหน้าที่ถูก เค้าก็บอกว่าลูกของคุณมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ที่นี้คุณพ่อคุณแม่ก็เลยมาคุยกับหนูตรงๆว่าจริงมั้ย หนูก็ตอบว่าจริง ท่านก็ไม่ได้มีอาการตกใจอะไรนะเท่าที่จำได้ ลักษณะเหมือนที่หนูได้พูดออกไปได้เปิดอกคุยกันอยู่เหมือนยกภูเขาออกจากอก หนูก็ร้องไห้เหมือนความอัดอั้นตันใจทุกอย่างได้ระบายออกหมดแล้ว มันโล่งใจ ณ ตอนนั้น แต่คุณพ่อคุณแม่จะมีความกังวลอยู่คือ โตขึ้นแล้วจะดูแลตัวเองได้ไหม กับสังคมที่เราจะอยู่หนูจะแข็งแรงรับมือกับมันได้ไหม แค่นั้นเลย คือเค้าเป็นห่วงว่าลูกจะใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างไร”
หลังจากได้พูดออกไปพ่อแม่ว่ายังไงบ้างมีท่าทีเปลี่ยนไปไหม?
“เหมือนเดิมทุกอย่างเลยค่ะ มีแค่หนึ่งอย่างเท่านั้นเองคือเค้าให้หนูไปพบจิตแพทย์ แต่เค้าคิดว่าเรื่องที่ไปพบจิตแพทย์เนี้ยถ้ามันรักษาได้ อันนี้ย้อนไปสมัยก่อนนะคะเค้าจะมีความคิดแบบนี้ คิดว่ามันอาจจะทำให้เปลี่ยนแปลงได้ มันจะดีกว่าไหมถ้าหนูจะกับไปใช้ชีวิตในสังคม เป็นครั้งเดียวเท่านั้นที่หนูได้ไปพบ พอออกมาปุ๊บหนูก็บอกกับป๊าม้า คือก๊อตว่าเรื่องนี้มันไม่สามารถแก้ได้นะ เราเป็นโดยเนื้อแท้ของเรา เราเป็นตัวตนของเรา การพบจิตแพทย์มันไม่ได้เป็นการแก้ไขในจุดนี้ หลังจากนั้นเค้าก็บอกว่าไม่ต้องไปอีกเลย อยากทำอะไรทำ อยากให้ใช้ชีวิตแบบไหนใช้เลย”
หลังจากนั้นเราเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่งหญิงเลยหรือเปล่า?
“ยังค่ะ หนูใช้ชีวิตตามสเต็ปเลยค่ะ หนูไม่ได้แกรนด์โอเพนนิ่ง แล้ววันรุ่งขึ้นลั้นลา เพราะว่าหนูเรียนโรงเรียนชายล้วนหนูก็แต่งชุดผู้ชาย เรียนมหาวิทยาลัยหนูก็ใส่เสื้อกับกางเกง ทำงานแล้วปีแรกหนูก็ใส่เสื้อกับกางเกง หนูมาเริ่มแต่งหญิงในเมื่อตอนที่รู้สึกว่าเลี้ยงตัวเองได้ หนูมาแต่งหญิงตอนหนูทำงานแล้ว และก็ทำงานเอาเงินเดือนให้คุณแม่ให้คุณพ่อ ใช้ชีวิตให้ตัวเองได้แล้ว”