วันที่ 24 ก.พ. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้
โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นไป โดยมีเนื้อหาทั้งสิ้น 42 หน้า และมีทั้งสิ้น 132 มาตรา
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือเพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญ ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน มีการวางแผนการดำเนินงาน และมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกอบกับมาตรการอื่นๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน และก่อให้เกิดผลดีกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้
ทั้งนี้ เนื้อหาของ พ.ร.บ.จะมีทั้งสิ้น 15 หมวด และบทเฉพาะกาล ประกอบด้วย หมวด 1 บททั่วไป ซึ่งเนื้อหาที่สำคัญจะอยู่ที่มาตรา 7 ในการกำหนดเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่กฎหมายใช้บังคับทั้งสิ้น 6 ประเภท ในขณะที่มาตรา 8 ได้กำหนดหลักการจัดซื้อจัดจ้างว่าต้อง 1.คุ้มค่า 2.โปร่งใส 3.มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และ 4.ตรวจสอบได้ ส่วนหมวดที่ 2 เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต โดยมาตรา 16-17-18 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดของการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ และให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการร่วมมือป้องกันการทุจริต
หมวด 3 จะเป็นส่วนของคณะกรรมการ ซึ่งมีหลายชุด ประกอบด้วยคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ, คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ, คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ, คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ส่วนหมวด 4 เป็นเรื่ององค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยจะให้กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานหลัก
หมวด 5 เป็นเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ส่วนหมวด 6 เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมาตรา 55 ได้กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุไว้ 3 วิธี คือ 1.วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป 2.วิธีคัดเลือก และ 3.วิธีเฉพาะเจาะจง ขณะที่หมวด 7 เป็นเรื่องงานจ้างที่ปรึกษา ซึ่งก็กำหนด 3 วิธีเช่นเดียวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ส่วนหมวด 8 เรื่องงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างนั้นจะมีกำหนดวิธีเป็น 4 แบบ คือ 1.วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป 2.วิธีคัดเลือก 3.วิธีเฉพาะเจาะจง และ 4.วิธีประกวดแบบ ซึ่งในตัวกฎหมายได้กำหนดรายละเอียดต่างๆ ไว้ชัดเจน
หมวด 9 เป็นเรื่องการทำสัญญาตั้งแต่มาตรา 93-99 หมวด 10 การบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุ ตั้งแต่มาตรา 100-105 หมวด 11 การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการตั้งแต่มาตรา 106-108 หมวด 12 การทิ้งงาน หมวด 13 การบริหารพัสดุ หมวด 14 การอุทธรณ์ และหมวด 15 บทกำหนดโทษ ซึ่งมาตรา 120 กำหนดไว้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุตาม พ.ร.บ.นี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความใน พ.ร.บ.นี้โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความใน พ.ร.บ.นี้โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้เช่นกัน