วันที่ 20 ตุลาคม 2566 : พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือที่เรียกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีรูปแบบในการหลอกลวงที่หลากหลาย แตกต่างกัน โดยรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยคือการปลอมเสียงเป็นคนรู้จักโทรศัพท์หาผู้เสียหายเพื่อหลอกยืมเงิน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอมาตีแผ่หนึ่งในเทคนิคกลลวงของกลุ่มคนร้ายปลอมเสียงคนรู้จักเพื่อหลอกยืมเงิน ซึ่งอาจใช้วิธีการที่ง่ายกว่าที่เราคิด และไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมดัดแปลงเสียงต่างๆ หรือต้องมีข้อมูลรูปแบบเสียงคนรู้จักของเราแม้แต่น้อย
ซึ่งวิธีการที่พบคือ คนร้ายจะโทรศัพท์หาเป้าหมายแล้วทำทีพูดว่า “จำได้ไหมนี่ใคร” “จำเพื่อนได้รึเปล่า” หรือ “แค่ไม่สบายเสียงเปลี่ยน เปลี่ยนเบอร์โทรนิดหน่อย ก็จำกันไม่ได้แล้วหรือ” แล้วจะพยายามให้เหยื่อพูดชื่อมาก่อน ซึ่งหากเสียงของคนร้ายมีความคล้ายกับเสียงเพื่อนหรือคนรู้จักของเราจริงๆ แล้วเราพูดชื่อของคนนั้นออกไป คนร้ายก็จะสวมรอยเป็นคนนั้นทันที
จากนั้นคนร้ายก็จะชวนคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเพื่อสร้างความเชื่อใจ แล้วทำทีว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยอ้างว่า แอปธนาคารล่ม, มีแต่เงินสดโอนเงินไม่ได้,มีเหตุด่วนต้องใช้เงิน หรือเหตุผลความจำเป็นอื่น ๆ เพื่อหลอกให้เราโอนเงินให้กับคนร้ายต่อไป
จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คนร้ายจะใช้เทคนิคในการหลอกล่อให้เราพูดชื่อคนรู้จัก ที่เสียงเหมือนกับคนร้ายออกไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เสียหายมักจะเชื่อโดยสนิทใจ ว่าคนที่คุยด้วยคือคนรู้จักจริงๆ เพราะเป็นคนพูดออกไปเองว่าเสียงของคนร้ายเหมือนเสียงของใคร และทำให้ผู้เสียหายไม่ทันระวัง หลงเชื่อโอนเงินตามที่คนร้ายขอนั่นเอง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อบุคคลที่ติดต่อมาทางโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก โดยเฉพาะการติดต่อจากเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก เพราะอาจเป็นคนร้ายที่มาแอบอ้างหลอกยืมเงินได้
สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากคนร้ายที่ปลอมเสียงคนรู้จักแอบอ้างหลอกยืมเงิน สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือสถานีตำรวจในท้องที่ที่ท่านทราบการกระทำความผิด ได้ตลอด 24 ชั่วโมง