ผบ.ทบ ให้ กอ.รมน. ขับเคลื่อนรับฟังข้อเสนอสร้างปรองดองในระดับพื้นที่
พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)เปิดเผยว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร( รอง ผอ.รมน.) ได้ให้ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในระดับพื้นที่ ซึ่งในระดับจังหวัดนั้น ให้ ผอ.รมน.จังหวัด เป็นเจ้าภาพหลัก ในการเชิญบุคคลด้านต่างๆในพื้นที่จังหวัด ได้แก่ กลุ่มการเมืองท้องถิ่น , นักวิชาการ , กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม(CSOs) , กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) , กลุ่มสื่อมวลชน , กลุ่มนักธุรกิจ , กลุ่มองค์กรวิชาชีพต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มคนในท้องถิ่นที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของรัฐ ในการดำเนินการต่างๆของ กอ.รมน.จังหวัด ให้เป็นไปตามกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รูปแบบในการดำเนินงานนั้น กอ.รมน.จังหวัด จะมีการบูรณาการกับทุกหน่วยงานภายในจังหวัด และจัดตั้งคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นขึ้นเพื่อเรียนเชิญ , รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และรวบรวบข้อคิดเห็น รายงานให้ กอ.รมน. ทราบตามสายงานบังคับบัญชา และ กอ.รมน.จะเป็นผู้รวบรวมข้อคิดเห็นจาก กอ.รมน.จังหวัดทุกจังหวัด นำเสนอให้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองต่อไป ซึ่งในการเรียนเชิญกลุ่มต่างๆเพื่อขอรับฟังข้อคิดเห็นนั้น ให้เป็นไปตามสภาวะแวดล้อมของพื้นที่และข้อพิจารณาของคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นฯของ กอ.รมน.จังหวัด ซึ่งการรับฟังอาจจะแยกแยะเป็นกลุ่มต่างๆตามความเหมาะสม โดยมีกรอบระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่บัดนี้และให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคม สำหรับสถานที่ในการจัดการรับฟังความคิดเห็นนั้นให้ กอ.รมน.จังหวัด พิจารณาตามความเหมาะสม ในขั้นต้นให้พิจารณาใช้สถานที่ราชการเป็นหลัก
พ.อ.พีรวัชฌ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นในการแสดงข้อคิดเห็นนั้น ให้เป็นไปตามกรอบที่คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองกำหนดให้ใช้เป็นแนวทางในการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งหน่วยอาจปรับคำถามให้สอดคล้องกับพื้นที่ของตนเองได้โดยให้หัวข้อรับฟังความคิดเห็นยังคงอยู่ในกรอบของคำถามหลักที่ตั้งไว้ และในการเรียนเชิญกลุ่มต่างๆเพื่อขอรับฟังความคิดเห็นนั้น ถ้า กอ.รมน.จังหวัด พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่ครอบคลุม กลุ่มบุคคล องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากส่วนกลางหรือพื้นที่อื่นๆ ก็สามารถเรียนเชิญได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างแท้จริง.