นาซา แถลงการค้นพบครั้งใหม่ พบระบบสุริยะที่ใกล้เคียงกับโลก พร้อมดาวเคราะห์อีก 7 ดวง ซึ่ง 3 ดวงนั้นเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 องค์การนาซา ได้มีการแถลงการค้นพบครั้งสำคัญ ว่า สามารถค้นพบระบบสุริยะใหม่ ซึ่งคล้ายกับระบบสุริยะของโลก อีกทั้งยังมีดาวเคราะห์ 7 ดวงที่มีขนาดใกล้เคียงโลกมาก ซึ่ง 3 จาก 7 ดวงนั้น เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกัน ระบบสุริยะใหม่ที่ค้นพบนั้น อยู่ห่างจากโลกประมาณ 39 ปีแสง
ทั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถานีสปิตเซอร์ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) แถลงผ่านเดอะเจอนัล เนเจอร์ ประกาศการค้นพบระบบดาวเคราะห์แทรพพิสต์-1 อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 40 ปีแสง หรือประมาณ 378 ล้านล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบดาวเคราะห์แรกที่ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดเล็ก 1 ดวง ซึ่งแม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นหิน แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำเช่นกัน และดาวเคราะห์ 3 ใน 7 ดวงนี้ อยู่ในเขตที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยได้ ซึ่งนายโธมัส เซอร์บูเชน รองผู้อำนวยการสำนักงานภารกิจวิทยาศาสตร์ ของนาซ่า กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้อาจนำไปสู่การค้นพบสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ในห้วงจักรวาลนี้ นายอมัวรี ไทรอัด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ผู้เขียนบทความลงนิตยสารวิทยาศาสตร์ฉบับนี้ แสดงความเห็นว่า จะเป็นก้าวสำคัญในการค้นหาชีวิตที่อยู่บนดาวเคราะห์เหล่านี้
สำหรับระบบดาวเคราะห์ที่ค้นพบครั้งนี้มีชื่อว่าแทรพพิสต์-1 มาจากชื่อของกล้องโทรทัศน์ในประเทศชิลีที่พบระบบดาวเคราะห์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 โดยในเวลานั้นพบดาวเคราะห์ 3 ดวง จากนั้นสถานีอีกหลายแห่งรวมทั้งสปิตเซอร์ก็ทยอยรายงานการค้นพบดาวเคราะห์เพิ่มขึ้นจนได้ข้อสรุปว่ามีดาวเคราะห์รวม 7 ดวง โคจรรอบดาวฤกษ์ 1 ดวงแต่การที่ดวงเคราะห์ไม่ได้หมุนรอบตัวเอง ทำให้มีสภาพอากาศแตกต่างจากโลก คือมีฝั่งที่เป็นเวลากลางวันกับกลางคืนตลอดเวลา
ด้านศจ. ไมเคิล กิลลอน จากมหาวิทยาลัยลีก ในเบลเยี่ยม แสดงความเห็นว่าการค้นพบยังเปลี่ยนข้อสันนิษฐานของนักดาราศาสตร์จำนวนมาก ที่มุ่งการค้นหาระบบดาวเคราะห์ที่คล้ายกับระบบสุริยะจักรวาลในทางช้างเผือกมาเป็นดาวดวงอื่นที่อยู่ใกล้โลกมากกว่า