นายปัญญา ปานแสง นายอำเภอวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า อำเภอวิเชียรบุรีร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ภาคเอกชน จัดงานประเพณีอุ้มพระสรงน้ำ วันสารทไทย แรม 15 ค่ำ เดือน 10 สืบเนื่องกันมาช้านาน โดยในป 2566 กำหนดจัดงานในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2566 โดยในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เวลา09.30 น ตั้งขบวนแห่องค์พระพุทธมิ่งมงคลพระพุทธรูปโบราณสมัยลานช้างปางมารวิชัย อายุประมาณ 700 ปี จากศาลาการเปรียญวัดประชานิมิตร ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรีมายังหน้าหน้าที่ว่าอำเภอวิเชียรบุรี เพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการะ ส่วนในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 07.30 น ตั้งขบวนแห่องค์พระพุทธมิ่งมงคลจากหน้าที่ว่าอำเภอวิเชียรบุรีไปยังศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่วิเชียรบุรี เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระสรงน้ำบริเวณแม่น้ำป่าสัก เป็นประเพณีท้องถิ่นที่จัดสืบทอดกันหลายชั่วอายุคน เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาอย่างช้านาน และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจที่เข้มแข็ง ปลูกฝังความเชื่อความศรัทธาที่ดี โดยการนำพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาสรงน้ำบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ปีละ 1 ครั้ง เชื่อว่าจะนำสิ่งไม่ดีให้ลอยไปกับสายน้ำจะมีแต่สิ่งดี ๆ กลับมาในชีวิตและครอบครัว จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขึ้นเจริญรุ่งเรือง ทำการเกษตรได้ผลผลิตดี คิดสิ่งใดสมปรารถนา อีกทั้งยังเป็นการขอฝนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาลด้วย
ความพิเศษของพิธีนี้ คือท่านนายอำเภอวิเชียรบุรี จะอัญเชิญพระไว้ในผ้าและย่อตัวลงไปเพียงให้เศียรพระจมมิดน้ำอย่างช้า ๆ จำนวน 3 ครั้งเท่านั้น สำหรับ ที่มาของประเพณีอุ้มพระสรงน้ำ อ.วิเชียรบุรี ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เจ้าเมืองวิเชียรบุรี เห็นว่า เกิดภัยสงครามครั้งใหญ่ เมืองวิเชียรบุรีเองก็ประสบกับความแห้งแล้งมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ชาวบ้านเสียขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพ เจ้าเมืองจึงคิดที่จะเรียกขวัญกำลังใจคืนมาโดยประกอบพิธีอุ้มพระสรงน้ำขึ้นในวันสารทไทยแรม 15 ค่ำเดือน 10 โดยอัญเชิญองค์พระพุทธมิ่งมงคล พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดวิเชียรบำรุง) ห่อด้วยผ้าขาวม้าทอใหม่ หย่อนลงไปในลำน้ำที่ วังกระโห้ ซึ่งถือว่าเป็นบริเวณวังน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่กลางลำน้ำป่าสักด้านเหนือซึ่งเคยเป็นบริเวณที่ตั้งของวัดท่าน้ำหรือวิเชียรบำรุงเก่า และชาววิเชียรบุรีต่างมีความเชื่อความศรัทธาว่า “การอัญเชิญพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาสรงน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ปีละครั้ง ก็จะเป็นศิริมงคลแก่บ้านเมือง ทำให้ประชาชนต่างได้รับอานิสงค์ผลดีมีความร่มเย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้าอย่างถ้วนหน้า และผู้ใดได้ตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปดื่มกินหรือปะพรมก็จะแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวงอีกด้วย”
นายอำเภอวิเชียรบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ภายในงานยังมีการกวนกระยาสารทและกิจกรรมการแสดงต่างๆมากมาย รวมทั้งจะมีการการแปรอักษรของกลุ่มสตรีอำเภอวิเชียรบุรี กว่า ๑,๕๐๐ ชีวิต นางรำกับการรำถวายน้อมรำลึก เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนากาธิเศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย
มนสิชา คล้ายแก้ว