เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 60 เวลา 09.30 น. ที่บริเวณอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พลเอก สาธร สุวรรณภา เป็นประธานในงานวันรำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อ โดยมีพลตรี ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข รองแม่ทัพภาค 3 กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พลตรี จิรเดช กมลเพ็ชร ผบ.พล.ม.1 พลตรี สุพจน์ บูรณจารี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 พลตำรวจตรี สัณห์ โพธิ์รักษา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ พลโท บรรยงค์ สีรสุนทร ประธานชมรมผ่านศึกเขาค้อ นำสมาชิกวางพวงมาลา ข้าราชการ ตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ ราษฎร์อาสาและประชาชนกว่า 500 คน เข้าร่วมพิธีเพื่อรำลึกวีรกรรมแด่วีรชนผู้กล้าหาญและเสียสละต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่วีรชนผู้กล้าหาญ เสียสละ อันได้แก่ พลเรือน ทหาร ตำรวจ ร่วมผนึกกำลังต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเลย โดยเริ่มการสู้รบตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2511 จนกระทั้งประสบชัยชนะ และยุตติการต่อสู้ด้วยอาวุธในปีพุทธศักราช 2525 และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน มาเป็นองค์ประธานเปิดอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ จึงได้กำหนดให้วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงวีรชนผู้กล้าหาญและจัดให้มีพิธีรำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ สร้างด้วยหินอ่อนรูปทรงสามเหลี่ยม ทุกตารางนิ้วของอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อที่สร้างขึ้น ทั้งความกว้าง ยาว สูง และรูปทรง ล้วนแล้วแต่มีความหมายทั้งสิ้น รูปทรงสามเหลี่ยม หมายถึง การปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ฐานอนุสรณ์สถานกว้าง 11 เมตร หมายถึง พ.ศ.2511 อันเป็นปีที่เริ่มการปฏิบัติการรุนแรงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นี้ ความสูงของแท่นบูชาถึงยอดอนุสรณ์สถาน 24 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2524 อันเป็นปีที่เปิดยุทธการครั้งใหญ่ ความสูงจากฐานถึงยอดอนุสรณ์สถาน 25 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2525 อันเป็นปีที่สิ้นสุดการต่อสู้ด้วยอาวุธ ความกว้างของฐานสามเหลี่ยม ด้านละ 2.6 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2526 อันเป็นปีที่เริ่มการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้
สำหรับกิจกรรมในงานวันรำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อ ประจำปี 2560 วันนี้ มีพิธีวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่านักรบผู้กล้า พิธีสงฆ์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ มีข้าราชการทหาร ตำรวจ อดีตนักรบผู้กล้าและครอบครัว ญาติพี่น้องของเหล่าวีรชน เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง