ธปท.แจ้งความ “เพย์ออล กรุ๊ป”ประกอบธุรกิจอี-มันนี่เถื่อน กระผิดกม. 2 ฉบับ ชี้โทษสูงสุดจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พบ ฟิล์ม รัฐภูมิ นั่งแท่นบริหาร
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.60 เวลา 14.00 น. ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธปท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในความผิดตามกฎหมาย 2 ฉบับ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ
ทั้งนี้ ธปท.ได้ตรวจพบว่า บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป ให้บริการแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ภายใต้ชื่อ เพย์ออล โดยให้ผู้ใช้บริการสมัครเป็นสมาชิกในแอปพลิเคชั่น และเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำอี-มันนี่ไปใช้ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่าง ๆ ที่กำหนด แต่ไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชาระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 (พ.ร.ฎ.อี-เพย์เมนท์) และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ถือมีความผิดและมีโทษตามกฎหมาย
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.ฎ. อี-เพย์เมนท์ และอำนาจ รมว.คลัง ตามประกาศกระทรวงการคลัง จึงดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมีบทลงโทษตามกฎหมายสำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายให้บริการอี-มันนี่ โดยไม่ได้อนุญาตจากทางการ มีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนที่เข้าไปใช้บริการได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากการบริการดังกล่าว ก็สามารถเข้าไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้
“ช่วงปลายปี 59 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ตรวจสอบและพบว่า บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป ได้ยื่นขออนุญาต แต่เป็นการขอดำเนินธุรกิจที่ผิดประเภท ทำให้ ธปท.ได้แจ้งเตือนไปยังบริษัท เพื่อให้ยื่นมาใหม่อีกครั้ง แต่ช่วงระหว่างนั้นรับทราบว่าบริษัทได้ดำเนินธุรกิจไปแล้ว ด้วยการเติมเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ซื้อเสื้อผ้า จ่ายค่าอาหารกับร้าค้าที่เข้าร่วม เป็นต้น ประกอบกับบริษัทไม่มีการเข้ามาติดต่อหรือชี้แจ้ง ทำให้ ธปท.ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อป้องกันความเสียหายของประชาชนที่ใช้บริการ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป มีนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ (ฟิล์ม) เป็นประธานบริหาร ที่จัดทำแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ รับบริการชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งการชำระเงิน จ่ายค่าสาธาณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าสินค้าต่าง ๆ ผ่านระบบ โดยมีทุนจดทะเบียนบริษัท 10 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับรายชื่อผู้บริหารประกอบด้วย นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ (ฟิล์ม) นักร้องและนักแสดง ประธานบริหาร (ซีอีโอ), นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์, น.ส.สุภัสฐิณี ศรีสอาด ที่ปรึกษาอาวุโสด้านภาพลักษณ์ขององค์กร, นายองอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการ สายงานสถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 เป็นที่ปรึกษา