เอเอฟพี – ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ สร้างความมึนงงแก่บรรดาแฟนคลับในรัฐฟลอริดาเมื่อวันเสาร์ 18 ก.พ. 60 ด้วยการอ้างถึงเหตุก่อการร้ายที่ “สวีเดน” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง และนับเป็นการปล่อยไก่ตัวโตที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯ ถูกเย้ยหยันอย่างหนักในโลกออนไลน์
ทรัมป์ ได้เอ่ยชื่อเมืองต่างๆ ในยุโรปที่เคยถูกโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้าย เพื่อหาเหตุผลมาสนับสนุนคำสั่งห้ามผู้ลี้ภัยและพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ
“คุณดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมนี คุณดูสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมาในสวีเดน สวีเดนนะ! ใครจะเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ สวีเดน! พวกเขารับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก และกำลังเผชิญปัญหาสารพัดอย่างที่พวกเขาก็ไม่คิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้”
ทรัมป์ ยังเอ่ยถึงกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม กรุงปารีสและเมืองนีซของฝรั่งเศส ซึ่งล้วนตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ได้ระงับคำสั่งบริหารของ ทรัมป์ โดยยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ ทรัมป์ ก็ยืนยันว่าจะมีการออกคำสั่งฉบับใหม่ภายในสัปดาห์นี้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตคนอเมริกัน
เมื่อวันที่ 19 ก.พ 60 ที่ผ่านมา “ทรัมป์” ได้ทวีตข้อความอธิบายคำพูดของตนว่า “ที่ผมเอ่ยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนนั้น ผมหมายถึงรายงานที่ @FoxNews นำเสนอเกี่ยวกับผู้อพยพ & สวีเดน”
ก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศสวีเดนได้ออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้แจงคำพูดของตน
“เราได้ติดต่อไปยัง (กระทรวงการต่างประเทศ) อเมริกาเพื่อทำความเข้าใจ และได้รับความกระจ่างแล้ว” คาตารินา อาเซลสัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อมวลชนของกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ด้าน อิลวา โจฮานสัน รัฐมนตรีกระทรวงการจ้างงานสวีเดน ก็ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า เธอต้องการคำอธิบายจาก ทรัมป์ เช่นกัน
“เราอยากทราบว่าเขาหมายถึงอะไร… เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ พูด ทั่วโลกย่อมรับฟัง แต่เราไม่เข้าใจว่าเขาพูดถึงสวีเดนในลักษณะที่เอาไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายในประเทศอื่นๆ… ต้องการสื่ออะไร และคงจะดีถ้าเราได้รับคำตอบ”
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่างพากันโพสต์ข้อความล้อเลียน ทรัมป์ พร้อมกับติดแฮชแท็ก #lastnightinSweden และ #SwedenIncident
อดีตนายกรัฐมนตรี คาร์ล บิลดต์ แห่งสวีเดน ออกมาตั้งคำถามว่า “สวีเดน? การก่อการร้าย? เขาสูบยาอะไรอยู่หรือเปล่า? คำถามอื้อเลย” ส่วน กุนนาร์ ฮ็อกมาร์ด สมาชิกสภายุโรปจากสวีเดน ก็ได้รีทวีตข้อความที่ว่า “#lastnightinSweden ลูกชายผมทำฮอทด็อกตกลงไปในกองไฟ เศร้าจัง!”
เอ็มมา หนึ่งในผู้ดูแลบัญชีทวิตเตอร์ @Sweden ซึ่งเป็นบัญชีทางการของประเทศสวีเดน ระบุว่า มีผู้โพสต์ข้อความโดยติดแฮชแท็ก @Sweden ถึง 800 ครั้งในเวลาเพียง 4 ชั่วโมง
ในช่วง 1 เดือนแรกของการบริหารประเทศ ผู้ช่วย ทรัมป์ หลายคนถูกสังคมวิจารณ์และหัวเราะเยาะเมื่อพวกเขาเอ่ยถึงการสังหารหมู่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่นกรณีของ เคลล์ยานน์ คอนเวย์ ที่ปรึกษาทำเนียบขาวผู้โด่งดังจากการสร้างศัพท์ “ความจริงทางเลือก” (alternative facts) ซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์เรื่อง “การสังหารหมู่โบว์ลิงกรีน” (Bowling Green massacre) ก่อนที่เธอจะออกมาแก้ตัวเป็นพัลวันว่าต้องการจะสื่อถึง “ผู้ก่อการร้ายโบว์ลิงกรีน” (Bowling Green terrorists) ซึ่งหมายถึงชายชาวอิรัก 2 คนที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษเมื่อปี 2011 ฐานสนับสนุนเงินทุนและอาวุธแก่กลุ่มอัลกออิดะห์ และใช้ระเบิดโจมตีทหารสหรัฐฯ ในอิรัก
ด้าน ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ก็พูดถึงเหตุโจมตีที่ “แอตแลนตา” ถึง 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ก่อนจะออกมาแก้ตัวว่ากำลังหมายถึงเหตุกราดยิง 49 ศพที่ไนต์คลับเกย์ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา เมื่อปีที่แล้ว