วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เวลา 7.30 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีปฏิญาณตน “ข้าราชการและบุคลากร DSI ไร้ทุจริต” และประกาศคำมั่นสัญญา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการยึดถือค่านิยมร่วม “เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ และซื่อสัตย์” ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เป็นที่ประจักษ์สู่สาธารณชน โดยในพิธีปฏิญาณตนครั้งนี้ ประกอบด้วย พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ,พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยข้าราชการและบุคลากรกรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 1,000 คน ร่วมกล่าวคำปฏิญาณตนด้วยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต และยึดถือหลักธรรมาภิบาล อย่างเข้มแข็ง ณ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“การจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ครบรอบปีที่ 21 ในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ คืนความยุติธรรมและความผาสุกให้กับประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 เพื่อทำหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนและดำเนินคดีพิเศษ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพในทุกด้าน พร้อมทั้งยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตและความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ส่งผลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของประชาชน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานระยะ 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนงานปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ มุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ดังนี้
ด้านที่ 1 ยกระดับการสืบสวนสอบสวนสู่มาตรฐานสากล มุ่งเน้นคดีที่มีผลกระทบสูง ในวงกว้าง มีมาตรการทำงานเชิงรุก พัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ปรับปรุงกระบวนงาน เพื่อให้ผู้รับบริการเข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด การดําเนินคดีต้องสำเร็จ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความครบถ้วนในพยานหลักฐานเป็นสำคัญ ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ
ด้านที่ 2 พัฒนาทรัพยากรบุคคลมืออาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาทักษะการสืบสวนสอบสวน และทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาความเชี่ยวชาญในแต่ละสายงาน จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรให้มีความชัดเจน มีหลักสูตรที่เหมาะสมกับบุคลากรทุกระดับ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมระบบสวัสดิการและจัดตั้งกองทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับบุคลากรภายใน
ด้านที่ 3 บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และทุกมิติ เน้นการทำงานป้องกันและป้องปรามเชิงรุก เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมคดีพิเศษ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอำนวยความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา และส่งมอบคุณค่าให้กับสังคม/ชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ (CSR การอำนวยความเป็นธรรม) อย่างทั่วถึง
ด้านที่ 4 พัฒนาและขับเคลื่อนองค์การตามหลักธรรมาภิบาล ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน มุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม พัฒนานวัตกรรมการให้บริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สะดวก รวดเร็ว และประหยัด ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับเกณฑ์การบริหารจัดการภาครัฐ PMQA และเกณฑ์ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ (ITA)
กรมสอบสวนคดีพิเศษ มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และยกระดับมาตรฐานการทำงานขององค์กร
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน