วันที่ 27 กันยายน 2566 ที่โดมคนสามวัย บ้านปลาฝา ต.หินฮาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ นางพรทิพย์ เจริญจิตร รองนายกกิ่งกาชาดอำเภอหล่มเก่า เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการจัดตั้งชมรมคนรักษ์ประเพณีของดีไทหล่ม โดยมีนายเกรียงศักดิ์ อู่สุวรรณ กรรมการกิ่งกาชาด อ.หล่มเก่า นายบุญช่วย ทองเถาว์ ข้าราชการบำนาญ ในฐานะรองประธานชมรม พร้อมด้วยคณะกรรมการ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมในการประชุม
นางพรทิพย์ เจริญจิตร ประธานชมรมฯ กล่าวว่าการจัดตั้งชมรมฯ เกิดจากแนวคิดของคนในพื้นที่อำเภอหล่มเก่า ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อค้า คหบดี ข้าราชการบำนาญและภาคประชาชน เครือข่ายภาคธุรกิจเล็งเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ ได้พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อ ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต โดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะการแสดง ฯลฯ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนในชุมชน ท้องถิ่นเกิดความตระหนัก มีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเผยแพร่และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณค่าความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยม และความเป็นไทย ในปัจจุบัน วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกละเลยและมีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อย เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณี และวิถีชีวิตที่ดีงาม ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ วัฒนธรรม ได้มีการ ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา หากมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างหลากหลายกันในพื้นที่ ไม่ได้รับการสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟูรวมถึงการพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางสังคมและจิตใจ ทำให้คุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมลดน้อยไปจนแทบจะสูญหาย วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ในแต่ละท้องถิ่น มีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกันไป ตามสภาพพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาหลากหลาย ควรที่จะได้รับการ ถ่ายทอดเยาวชนรุ่นหลังสืบไป การอนุรักษ์เป็นหนทางหนึ่งที่ยั่งยืน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ของชุมชนให้ดำรงอยู่ในท้องถิ่น
ดังนั้นจึงก่อให้เกิดชมรมคนรักษ์ประเพณีของดีไทหล่มเพื่อส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นและทั่วไปเห็นคุณค่า มีความภาคภูมิใจและร่วมกันอนุรักษ์และสืบสาน ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีของท้องถิ่นให้เยาวชนรุ่นหลังได้ดำรงรักษาสืบทอดต่อไป รวมทั้งฟื้นฟูวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะการแสดง ฯลฯ ที่ใก้ลสูญหายหรือสูญหายไปแล้วให้กลับมามีชีวิตเหมือนเดิม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการส่งเสริม สนับสนุนและรักษาต่อยอดวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้เป็นที่รับทราบอย่างแพร่หลาย
ในการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้หารือในส่วนของคณะกรรมการที่จะประสานเชิญชวนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานจากทุกภาคส่วนเพิ่มเติม รวมถึงกำหนดขอบเขตการทำกิจกรรม/โครงการ กรอบแนวทางของกิจกรรมที่จะจัดทำ เครือข่ายภายนอกที่จะร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานกับชมรม โครงสร้างคณะทำงาน แผนงานกิจกรรม แหล่งทุน กลุ่มเป้าหมายไว้คร่าวๆ เพื่อที่จะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการชุดถาวรเต็มรูปแบบในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ นางพรทิพย์ เชื่อมั่นว่าชมรมฯ ดังกล่าว ซึ่งเกิดจากพลังของคนในท้องถิ่นที่อยากจะทำให้เกิดการส่งเสริม สนับสนุนและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมปลูกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตระหนัก และมีส่วนร่วมในการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานภูมิปัญญาและคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้ เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น เกิดความภาคภูมิใจและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นสืบไป
มนสิชา คล้ายแก้ว