วันที่ 27 กันยายน 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมวุฒิสภา ชั้น 2 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) วุฒิสภา จัดสัมมนาโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน ครบรอบ 4 ปี “4 ปี แห่งความสำเร็จ สว.พบประชาชน” โดยมี พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน เป็นประธานเปิดและกล่าววัตถุประสงค์การโครงการฯ พร้อมด้วยนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดสัมมนา คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนทั้ง 7 กลุ่มจังหวัด สมาชิกวุฒิสภา นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา ผู้บริหาร บุคลากรสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนเข้าร่วมการสัมมนา
.
พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง กล่าวว่า โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน ภายใต้กรอบแนวคิด “ไปด้วยมิตรไมตรี ปฏิบัติต่อทุกคนในพื้นที่ อย่างเป็นกัลยาณมิตร” มีจุดมุ่งหมายเพื่อเยี่ยมเยือน สร้างขวัญกำลังใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมร่วมรับฟังการสะท้อนข้อคิดเห็น เสริมสร้างวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ให้แก่ประชาชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งติดตามผลการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ 7 กลุ่มจังหวัด และคณะกรรมการอำนวยการร่วมดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ เด็ก เยาวชน ประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ หมู่บ้าน ตำบลที่อยู่ห่างไกลตามแนวชายขอบ โดยสมาชิกวุฒิสภา มีแนวคิดว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกกลุ่มควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน” มีการลงพื้นที่พบประชาชน 409 ครั้ง ในทุกจังหวัด ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี ถือเป็นโครงการริเริ่มสร้างสรรค์ นวัตกรรม รูปแบบการพบประชาชนเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่ได้นำกลไกวุฒิสภาบูรณาการแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน ทั้งระดับพื้นที่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ให้มีการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันแบบประสานสอดคล้อง คำนึงถึงประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ โดยได้ใช้กลไกของวุฒิสภาให้การช่วยเหลือทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
.
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานภาพรวมโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 4 ปี โดยนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และมีการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จ Best Practice จากโครงการฯ ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมการปลูกกาแฟและแมคคาเดเมีย พืชเศรษฐกิจ และพืชทางเลือก สำหรับเกษตรกรในพื้นที่สูง บ้านดงมะไฟ จังหวัดนครราชสีมา 2. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหาร 3. การส่งเสริมและยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงปูขาว จังหวัดนครศรีธรรมราช 4. โครงการนั่งแพแลน้ำ (การท่องเที่ยว) จังหวัดพิษณุโลก 5. ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากโครงการ EEC ในพื้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี 6. แพลตฟอร์มย่านล้านนาสร้างสรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ และ 7. การติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ ประชาชนได้นำเสนอ 4 ประเด็นปัญหาข้อห่วงใย พร้อมทั้งมอบหนังสือให้แก่ผู้แทนรัฐบาล ประกอบด้วย 1) ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ 2) ปัญหาด้านที่ดินทำกิน 3) ปัญหาด้านการเกษตร และ 4) ปัญหาด้านเศรษฐกิจฐานราก
วุฒิสภา
กชกร พวยไพบูลย์
ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสิงห์บุรี