คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การประชุมในวันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาอนุญาตให้ก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ในพื้นที่ จ.กระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา กำลังการผลิต 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งเคยถูกคัดค้านจนทำให้ต้องชะลอการก่อสร้างมาเป็นเวลาถึง 2 ปีหรือไม่ โดยก่อนการประชุม เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้นัดรวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 10.00 น. เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเรียกร้องให้ฝ่ายคัดค้านยื่นข้อเสนอที่ชัดเจนว่า หากไม่ยอมให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน 2 จังหวัด ควรจะทำอย่างไรต่อไป ยืนยันว่า รัฐบาลพยายามรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย แต่หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคใต้ ก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านพลังงาน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากในภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% ต่อปี ซึ่งในปี 2556 ก็เคยเกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงมาแล้ว
นอกจากนี้ พล.ท.สรรเสริญ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จนได้ข้อสรุปว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมีความเหมาะสมมากที่สุดในแง่ของการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, ลม, ปาล์มน้ำมัน และ ก๊าซธรรมชาติเหลว พร้อมทั้งได้ดำเนินการตามหลักวิชาการทั้งการศึกษาคุณภาพอากาศในรัศมีมากกว่า 5 กม.จากจุดสร้างโรงไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กว้าง 30 กม. ยาว 30 กม. หรือคิดเป็นพื้นที่ 900 ตร.กม. รวมถึงศึกษาข้อมูลด้านทะเลและชายฝั่ง การใช้น้ำและระบายน้ำอย่างละเอียดในรัศมีมากกว่า 5 กม.และพื้นที่บางส่วนของ จ.ปัตตานีด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล การประกอบอาชีพประมง เกษตรกรรม และวิถีชุมชนตามที่กล่าวอ้าง โดยรัฐบาลขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้คัดค้านแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทำการที่ขัดต่อกฎหมาย หรือ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น พร้อมยืนยันว่า เมื่อรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นของท่านแล้ว ท่านก็ควรรับฟังรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่ นาย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน กล่าวว่า เครือข่ายเคยเสนอทางเลือกให้สร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทนการใช้ถ่านหินให้กับรัฐบาลไปแล้ว โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 1,400 เมกะวัตต์ ที่ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียรเท่าถ่านหินก็ไม่เป็นความจริง เพราะอย่างประเทศเยอรมนี ก็ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสามารถใช้กับประเทศไทยได้ทั้งประเทศ ส่วนการเดินทางมาคัดค้านในวันนี้ หาก กพช. ยังอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลาอีก เครือข่ายจะชุมนุมต่อเนื่อง และยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม รศ.ภิญโญ มีชำนะ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วยกลุ่มนักวิชาการ ได้เดินทางมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคใต้เช่นกัน