เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2566 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ วัดเขียนเขต พระอารามหลวง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม, ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขประจำปี พ.ศ.2566 โดยมี พระธรรมรัตนาภรณ์ ประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ส่วนกลาง กล่าวรายงานในที่ประชุมฯ มีเจ้าคณะพระสังฆาธิการ คณะกรรมการผู้ขับเคลื่อนโครงการ มาร่วมประชุมที่ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติวัดเขียนเขตพระอารามหลวง จำนวนกว่า 300 รูป/คน และมีภาคีเครือข่ายทั้ง 13 องค์กรทั่วประเทศ เข้าประชุม ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์กว่า 4,000 ท่าน
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นหนึ่งในโครงการของแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการเพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ สัปปายะ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา และเป็นรมณียสถานอันเป็นความสงบทางจิตใจของพุทธศาสนิกชน โครงการนี้มีป้าหมายสำคัญ คือ การส่งเสริมให้มีเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมและองค์ความรู้ 5ส. ไปสู่การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และรักษาความสะอาดภายในวัดและชุมชน สถาบันการศึกษาให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ และการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมวิถีพุทธ และการมีจิตอาสาเพื่อการพัฒนาสังคมทที่ยั่งยืน
ด้าน พระธรรมรัตนาภรณ์ ประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ส่วนกลาง กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาระยะที่ 1 พ.ศ. 2561-2565 คณะอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ ได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดการขยายเครือข่ายวัดที่เป็นสัปปายะ ทั่วประเทศในระยะเวลา 5 ปี จำนวนร้อยละ 50 ของวัดทั่วประเทศ โดยมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมอนามัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมในการนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนา “คุณภาพสิ่งแวดล้อม” ของวัดและชุมชน โดยมีวิสัยทัตน์และเป้าหมายสำคัญคือ “วัดสวยด้วยความสุข” และ”การสร้างวัดในใจคน”
ผลการดำเนินการในระยะที่ 1 ระหว่างปี 2561-2565 พบว่า มีวัดที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 22,574 วัด จาก 42,469 วัดทั่วประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 53.15 แบ่งเป็นวัดที่เข้าสู่มาตรฐานจำนวน 19,632 วัด วัดสร้างมาตรฐานระดับดี 2,117 วัด ระดับสร้างมาตรฐานดีเด่น 679 วัด และระดับดีเยี่ยมจำนวน 146 วัด โดยมีวัดที่ได้รับทุนอุดหนุนกิจกรรมจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจำนวน 2,178 วัด ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดร้อยละ 50 ของวัดทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ใช้กลยุทธ์การจับคู่วัด ชุมชน สถาบันการศึกษาและองค์กรในการพัฒนาวัดและชุมชน โดยมีองค์กรที่ร่วมสนับสนุนโครงการจำนวนมาก จนเกิดขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขให้เกิดสัมฤทธิผล คือ วัดสวยด้วยความสุข โดยมีตัวแทนประชาชน องค์กรภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน
ในการดำเนินการระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป หลายหน่วยงานได้เห็นความสำคัญของโครงการ จึงได้แสดงเจตจำนงมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินโครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข จำนวน 15 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริษัทเนเจอร์กิฟ จำกัด
ในการดำเนินการระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไปนี้ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 4 ประการ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบและกลไกการบริหารโครงการอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งสร้างสรรค์ไปสู่สังคมในวงกว้าง ให้มีการรับรู้เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาองค์ความรู้ บุคลากร และองค์กรสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่วิถีพุทธ โดยมุ่งการพัฒนาองค์ความรู้และการเรียนรู้ตามหลัก 5ส. หลักสัปปายะ และความรับผิดชอบต่อสังคมรวมทั้งการส่งเสริมกระบวนการจิตอาสาในการพัฒนาเชิงพื้นที่วิถีพุทธ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมพลังชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมและมรดกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งส่งเสริมกิจกรรม พลังบวรของชุมชนที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง การส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมและมรดกวัฒนธรรมวิถีพุทธให้มีความรุ่งเรือง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย และยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างภาคีเครือข่ายการพัฒนาเชิงพื้นที่ และสุขภาวะวิถีพุทธที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาและบูรณาการโครงการ วัด ประชา รัฐ กับกิจการพระพุทธศาสนา การพัฒนาเชิงพื้นที่กับตำบล ชุมชน และสถาบันการศึกษา ส่งเสริมองค์กรภาคีเครือข่าย บนฐานจิตอาสาและความรับผิดชอบต่อสังคม
ส่วน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม, ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เกิดขึ้นได้ด้วยความมีน้ำจิตน้ำใจร่วมกัน ทั้งฝ่ายวัด และฝ่ายคฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา ตลอดทั้งหน่วยราชการต่างๆ ที่มามีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้โครงการนี้ ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โครงการนี้เป็นไปด้วยความยั่งยืนมาโดยตลอดนั้นก็ด้วยอาศัยท่านเจ้าคุณพระธรรมรัตนาภรณ์ เป็นกำลังสำคัญ พูดง่ายๆว่าท่านทำงานไม่มีคำว่าเหน็ดเหนื่อย ท่านไปทุกแห่งไปทุกที่ ที่มีการเชิญมาก็ดี หรือไปเยี่ยมตรวจก็ดี ท่านไปทุกที่ ได้รับรายงานมาโดยตลอด พรุ่งนี้ท่านก็จะลงใต้ไปที่จังหวัดในภาคใต้ไปบรรยายอีกเช่นเดียวกัน ถือว่าท่านทำงานด้วยใจรัก ด้วยความเสียสละ โครงการวัดประชารัฐสร้างสุขนี้จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงามและเจริญรุ่งเรืองได้นั้น ก็ด้วยอาศัยพลังสามัคคีของแต่ละฝ่าย จากวัดเป็นต้นแบบ มีพระเป็นกำลัง มีหน่วยงานราชการระดับอำเภอ วัด ประชาชน หรือระดับสถานศึกษาฯ เพื่อการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เราต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้เราทิ้งกันไม่ได้ ตามหลักที่คำว่า บวร บ้าน วัด โรงเรียน หรือหน่วยงานราชการต้องอยู่ร่วม ขับเคลื่อนไปด้วยกัน จึงทำให้เกิดความสงบสุขและความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นความสำเร็จที่จะยั่งยืนต่อไปในอนาคต.
ภาพ/ข่าว สมาคมนักข่าวปทุมธานี