พพ. นำทีมผู้บริหาร สื่อมวลชน เยี่ยมชมความสำเร็จ ทีมเวิร์คโตโยต้า คว้ารางวัล Thailand Energy Awards 2023 ประเภททีมงานด้านพลังงานโรงงานควบคุม ชูการนำแนวคิดกลไกลทางธรรมชาติ Karakuri มาสร้างประโยชน์ในขบวนการผลิตที่ไม่ต้องใช้พลังงานสิ้นเปลือง สู่การยกระดับเป็นวัฒนธรรมองค์กรด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างแท้จริง สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ ทั้งในและนอกองค์กร เข้าใจง่ายในเทคนิคการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยพลังของคนในองค์กร สู่เป้าหมายการลดคาร์บอน “Toyota Environmental Challenge 2050”
เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2566 : นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยม บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานบ้านโพธิ์) จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ เป็นโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 3 ของบริษัท โตโยต้าในไทย ภายใต้โครงการ IMV (Innovative international Multi -purpose Vehicles) เพื่อผลิตและส่งออกรถกระบะขนาด 1 ตัน และรถยนต์เอนกประสงค์ ไปยังหลายประเทศทั่วโลก โดยโรงงานถูกออกแบบภายใต้แนวคิด Sustainable Plant ผ่านการจัดการด้านการอนุรักษ์พลังงาน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generator) โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมไปถึงการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายในสถานที่ทำงาน โดยโรงงานบ้านโพธิ์ ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงาน ได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านการลดพลังงาน ทั้งจากกิจกรรมในอดีต จากความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เรียบเรียงให้เข้าใจง่ายจนสามารถพัฒนาเป็นคู่มือ เพื่อถ่ายทอดไปสู่ภายในและภายนอกองค์กร ผ่านกิจกรรม ‘Zero CO2 Viewpoint’ โดยเฉพาะการใช้กลไกและ แรงจากธรรมชาติมาช่วยลดพลังงาน (Energy-less by Karakuri) ซึ่งออกแบบโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง แรงสปริง และแรงตามธรรมชาติ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคนิคที่นำมาประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้จริง
นายสมคิด ประดิษฐกำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โตโยต้า ได้มีการประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของบริษัท ที่จะเป็น “ผู้นำพาการขับเคลื่อนยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คน และความยั่งยืนของสังคม” โดยมีพันธกิจ ที่จะเสริมสร้างความสมดุล ความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการดำเนินงานทุกกระบวนการตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตาม นายอากิโอะ โตโยดะ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอรเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น ย้ำว่า การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน จะเป็นหนทางทำให้มนุษย์ สามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข ภายใต้เจตนารมย์ “Toyota Environmental Challenge 2050”
โรงงานบ้านโพธิ์ จึงได้กำหนดแผน และปฏิบัติการให้สอดรับกับเจตนารมย์ ของบริษัทแม่ในญี่ปุ่น ที่จะมุ่งมั่นพัฒนาโรงงานให้มีการอนุรักษ์พลังงานที่ถือเป็นภารกิจสำคัญ ผ่านการขับเคลื่อนโดยทีมงานด้านพลังงานซึ่งร่วมกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละหน่วยงาน นำประสบการณ์ที่ผ่านมารวบรวมเป็น เทคนิคด้านการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Zero CO2 Viewpoint ซึ่งมี 5 ขั้นตอนประกอบด้วย ลดการใช้พลังงาน (Minimize Energy Usage) อาทิ การหยุดใช้พลังงานในเวลาที่ไม่จำเป็น เน้นใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง การใช้พลังงานที่สูญเสีย Loss น้อยที่สุด (Use Low–Loss Energy) เน้นการใช้อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานที่มี Loss ต่ำ ใช้กลไกและแรงจากธรรมชาติมาช่วยลดพลังงาน (Energy – less by Karakuri ) ซึ่งออกแบบโดยอาศัย แรงโน้มถ่วง ลดการใช้ไฟฟ้า เอาพลังงานที่สูญเปล่ากลับมาใช้ใหม่ (Recovery energy) เช่นการติดตั้งระบบ Regenerative Lifter เพื่อนำพลังงานที่เหลือจากการลดความเร็ว มาผลิตเป็นไฟฟ้า
เปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดยเน้นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
จนเป็นที่มาของความสำเร็จในการได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2023 ประเภททีมงานด้านการจัดการพลังงานโรงงานควบคุม โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ทีมด้านพลังงาน สามารถทำกิจกรรมเพื่อลดพลังงานได้ถึง 203 เรื่อง ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 20,542 ตัน หรือคิดเป็นค่าพลังงาน 166 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากพนักงานทุกคนได้ร่วมปฏิบัติการ รายงานผล ติดตาม ประจำวัน ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อวัดผลและควบคุมไม่ให้เกินค่าที่กำหนดไว้ ทำให้สามารถจัดการความผิดปกติของพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีการให้ความรู้กับพนักงานในองค์กร รวมถึงการถ่ายทอดแนวทางของโตโยต้าสู่องค์กรภายนอกอย่างต่อเนื่อง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน