กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยประสานงานหลักกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนระดับประเทศ ของประเทศไทย มุ่งหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากฐานรากให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน และเชื่อมโยงกับชุมชนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนไทยและชุมชนในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานรากเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนลดความยากจนและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนร่วมกับบริษัทโลเคิล อไลค์ จำกัด โดยมีชุมชนท่าลี่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เป็นชุมชนนำร่อง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน
โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (citizen -centered) ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการร่วมคิด ร่วมลงมือทำ และร่วมพัฒนา เพื่อมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง
สู่สิ่งที่ดีกว่า (Change for Good) และบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติให้ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนไทยและชุมชนในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานรากเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนลดความยากจนและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างศักยภาพชุมชนด้านการท่องเที่ยวโดยใช้ชุมชนเป็นฐานราก สร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ สร้างศักยภาพคนในชุมชนให้มี
องค์ความรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวและตลาดท่องเที่ยว พัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนให้เข้มแข็ง คนในชุมชนหลุดพ้นจากความยากจน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย และ สปป.ลาว
กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการฯ ร่วมกับบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด โดยคัดเลือก ชุมชนท่าลี่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เป็นชุมชนนำร่องในการดำเนินโครงการฯ
และจัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวครบวงจรให้กับชุมชน
และมีการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว การออกแบบแผนที่ท่องเที่ยวชุมชน (Infographic Mapping) การพัฒนาอาหาร ผลิตภัณฑ์ และบริการ การสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวเครือข่ายชุมชน เพื่อดึงอัตลักษณ์ของชุมชนให้มีความโดดเด่น สร้างจุดขายที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งมีการส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวด้วยการขับเคลื่อนโดยชุมชน และเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งกระบวนการบริหารจัดการผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการร่วมคิด ร่วมออกแบบ และร่วมพัฒนาพื้นที่
ด้วยรูปแบบการใช้ชุมชนเป็นฐานรากจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยตรง และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง สร้างภาคีเครือข่ายเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว การส่งต่อนักท่องเที่ยวระหว่างชุมชนท่าลี่ และชุมชนบ่อแตน แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ซึ่งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชุมชนในภูมิภาคอาเซียน
ชุมชนท่าลี่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทั้งด้านภูมิประเทศที่มีความสวยงาม โอบล้อมด้วยขุนเขาสลับซับซ้อน เป็นเมืองเล็กในหุบเขา ภูมิอากาศที่ค่อนข้างเย็นตลอดปี สามารถปลูกพืชได้หลากหลายทั้งพืชเมืองหนาวและพืชเมืองร้อนได้ตลอดทั้งปี รวมทั้ง มีแม่น้ำเหือง
เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างอำเภอท่าลี่กับเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี สปป.ลาว และวิถีชีวิตของคน
ในชุมชนมีความเรียบง่าย ผู้คนทั้งสองฝั่งริมแม่น้ำเหืองมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเครือญาติไปมาหาสู่กัน
เป็นประจำ แม้จะอยู่ในพื้นที่พรมแดนระหว่างประเทศ ด้วยความโดดเด่นของพื้นที่ชุมชนท่าลี่ สามารถดึง
อัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่เป็นจุดขาย พัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้
จุดเริ่มต้นจากวิถีชีวิตสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน คนในชุมชนบ้านกกก้านเหลือง ชุมชนบ้านยาง และชุมชนบ้านนากระเซ็ง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ได้มีการรวมตัวกัน โดยเริ่มต้นจากชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชน จากเดิมที่ตรวจพบ
ค่าสารเคมีในเลือดสูงเกินระดับปกติจากการบริโภคผัก ผลไม้ที่ใช้สารเคมี ปรับเปลี่ยนเป็นการบริโภคผัก ผลไม้ ไร้สารเคมี จนกระทั่งคนในชุมชนมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น และมีการพัฒนาเป็นกลุ่ม “อินทรีย์ฮีโร่” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไร้สารเคมีและปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริม
การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจกล่าวได้ว่า “เกษตรอินทรีย์ช่วยเหลือสังคม” นั่นเอง นอกจากนี้ ความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ท่าลี่ “ภูชมลาว” ก็เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่ดึงเอาจุดเด่นในหลาย ๆ ด้านของพื้นที่จึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวที่ผ่าน
การวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบการบริหารจัดการ และการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนที่นำไปสู่การเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน และความสวยงามของธรรมชาติ
ให้เป็นจุดหมายปลายทางการเดินทาง (Travel destination)
จากกระบวนการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน
การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้เติมเต็มองค์ความรู้ และการค้นพบศักยภาพของชุมชนในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวชุมชนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานราก ชุมชนท่าลี่ได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการนำแนวคิดการพัฒนาเชิงสุขภาพที่มุ่งเน้นความเป็นเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านในท้องถิ่นสู่เส้นทางท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ กิจกรรมกอดป่า
และการปลูกหลุมกับข้าวร่วมกับกลุ่ม “อินทรีย์ฮีโร่ กิจกรรม
นั่งรถอีแต๊กไปจุดชมวิว “ภูชมลาว” เพื่อชมทะเลหมอก
ในยามเช้าหรือชมวิวแม่น้ำเหืองที่คั่นกลางระหว่างสอง
แผ่นดินไทย-ลาว กิจกรรมการทำอาหารเช้าท้องถิ่นที่มี
เฉพาะที่นี่บนยอดภูด้วยตนเอง เช่น ข้าวจี่เลือดมังกรไข่
กระบอกสมุนไพร สัมผัสกับทะเลหมอกจาง ๆ แนวเทือกเขา
ที่สวยงาม และชมพระอาทิตย์ขึ้น 2 ด้านของประเทศไทย
และ สปป.ลาว ที่มีความสวยงามไม่แพ้ทางภาคเหนือ กิจกรรมที่ไร่ภูคูนคำ ร่วมทำอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น พิซซ่าโฮมเมด เมี่ยงคำสมุนไพร กิจกรรมเรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟจากการเลี้ยงเห็นอ้มและการลงมือทำประหนึ่งบาริสต้าตัวจริง กิจกรรมเรียนรู้การทอผ้าลายพระธาตุสัจจะ-กองเส็ง สักการะพระธาตุสัจจะพร้อมฟังประวัติความเป็นมา และกิจกรรมเดินชมแม่น้ำเหือง เรียนรู้วัฒนธรรมสองฝั่งไทย-ลาว เปิดประสบการณ์ที่จะตราตรึงในหัวใจนักท่องเที่ยวตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว (Tourism route) และมีความประทับใจกลับไป
ผลจากการดำเนินโครงการฯ ระหว่างช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า
จากการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวและเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนท่าลี่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย
ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.94 จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการฯ และชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยจำนวน 20,042 บาทต่อเดือน
คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 142.23 นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เน้นการสร้างภาคีเครือข่าย
ความร่วมมือระหว่างชุมชน โดยชุมชนท่าลี่สามารถที่จะวางแผนขยายเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นๆ ทั้งของไทย และ สปป.ลาว ต่อไป ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพชุมชนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานราก
และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน