ศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) มอบนโยบายในการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการวิชาชีพ การวิจัย และการพัฒนากิจกรรมทางวิชาการร่วมกับหน่วยงานภาคการศึกษาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการในทุกศาสตร์สาขาวิชาชีพแก่ทุกภาคส่วนของสังคม
นโยายดังกล่าวถือเป็นการประสานความร่วมมือให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่ทันสมัย การวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรม การจัดการฝึกอบรม การจัดกิจกรรมวิชาการ รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนผลงานทางวิชาการ รวมทั้งการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน และการฝึกอบรมอาชีพร่วมกัน เพื่อยกระดับความเข้มแข็งด้านวิชาการ ประสบการณ์ ทักษะวิชาชีพ และเสริมสร้างเครือข่ายทางวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนในอนาคต และถือเป็นบทบาทสำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีทั้งในเชิงนโยบาย และการดำเนินงานด้วย
จากความสำคัญด้านนโยบายดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ จึงได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีกับวิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร โดย ผศ.ดร.เสงี่ยม บุษบาบาน ผู้ช่วยอธิการบดี ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และนายเผด็จ เปล่งปลั่ง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร พร้อมด้วย ดร.โสพัฒน์ โสภาภิมุข ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ ดร.กนกอร โฉมเฉลา ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวด้วย โดยมี รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้เกียรติร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการดังกล่าว พร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยาน และแสดงความยินดีกับทั้งสองหน่วยงานในโอกาสนี้ด้วย
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ หรือต่อยอดทางธุรกิจได้
นอกจากนี้ บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีจากความร่วมมือทางวิชาการ ยังจะก่อให้เกิดการบูรณาการเชิงการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาคประชาชน องค์กรเอกชน และหน่วยงานภาครัฐให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลากหลายสาขาวิชาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก จึงมีความพร้อมทั้งสิ่งสนับสนุนการศึกษา และบุคลากร คณาจารย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะอาชีพทุกด้านให้กับประชาชนในชุมชน และสังคม เพื่อนำไปสู่การขยายผลต่อยอดในการพัฒนาตนเองได้ในอนาคต
ในการนี้ มีผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ผู้บริหารของวิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานอย่างคับคั่ง ณ อาคาร Sport Complex ชั้น 4 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566