นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกจังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ 2 มกราคม ๒๕๖๖ ถึง ๑๒ กันยายน ๒๕๖๖ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงถึง ๗๖๐ ราย จัดเป็นลำดับที่ ๔๒ ของประเทศ ลำดับที่ ๓ ของเขตสุขภาพที่ ๔ ซึ่งในปีนี้พบผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันเกือบ ๔ เท่า โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม พบผู้ป่วยเฉลี่ยสัปดาห์ละ ๕๐ – ๖๐ ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ๑ ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มอายุ ๕ – ๑๔ ปี สูงถึงร้อยละ ๕๖.๓๐ รองลงมาคือ กลุ่มอายุ ๑๕ – ๒๔ ปี (พบอัตราป่วยสูงสุด
ในอำเภอดอนพุด เฉลิมพระเกียรติ บ้านหมอ วิหารแดง และหนองโดน ตามลำดับ)
เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดสระบุรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ดำเนินการ ดังนี้ สังเกตอาการป่วยของตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยมากกว่า ๒ วัน ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์หรือหน่วยบริการสาธารณสุขเพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่ สเตียรอยด์(NSAIDs) เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) รวมถึงยาชุดแก้ปวด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา นำไปสู่ภาวะช็อค และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวจากการถูกยุงกัดเช่นทายากันยุง หรือนอนในมุ้ง เป็นต้น กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน สถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะโดยขอให้ยึดหลัก “๕ ป. ๒ ข.” ป ๑ ปิด ภาชนะน้ำดื่ม น้ำใช้ ให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ป ๒ ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างน้ำ โอ่งน้ำ
ป ๓ เปลี่ยน น้ำในภาชนะน้ำใช้ แจกันดอกไม้ จานรองกระถางต้นไม้ ทุก ๗ วัน ป ๔ ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมในและรอบบ้าน ให้สะอาด ปลอดโปร่ง แสงสว่างส่องถึง ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย ป ๕ ปฏิบัติ มาตรการข้างต้น ให้เป็นประจำจนเป็นนิสัย ข ๑ ขัดภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำเพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ ข ๒ จัดการขยะเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย คว่ำ ฝัง เผา เก็บทิ้งถังขยะ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอำเภอทุกอำเภอเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่โดยดำเนินการตามแนวทางหนังสือ จังหวัดสระบุรี ด่วนที่สุด ที่ สบ ๐๓๓.๐๐๙/ว๔๗๑๙ ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๖ และหนังสือ จังหวัดสระบุรี ที่ สบ ๐๓๓.๐๐๓/๖๔๗๒๙
ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๖ พร้อมทั้งเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ ถูกต้องในการป้องกัน และรักษาโรคไข้เลือดออกให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้รับรู้ผ่านผู้นำท้องที่ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ควบคู่กับการสื่อสารผ่านหอกระจายข่าวและสื่อโซเชียลรูปแบบต่างๆ ต่อไป
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ