‘ศุภมาส’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (อว.) หนุน รัฐบาลดิจิทัล ผลักดัน แพลตฟอร์ม ‘ทราฟฟี่ ฟองดูว์’ (Traffy Fondue) ชวนผู้ว่าราชการจังหวัด สถานที่ราชการ และหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศเดินหน้าใช้เป็นประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาประชาชน ‘ชัชชาติ’ ปลื้ม กทม. รับรางวัลหน่วยงานดีเด่น หลังใช้แพลตฟอร์มกว่าปีเศษ แก้ปัญหารวดเร็ว 11 เท่า เล็ง ขยายผลเป็น Traffy Fondue Plus ผุด ‘4 ดี’ สร้างการมีส่วนร่วมประชาชน
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 : ที่ห้องแถลงข่าว (อว.) ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร “หน่วยงานดีเด่นในการใช้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อบริการประชาชน” ให้กับ 190 หน่วยงาน ทั้งในระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยมี รองศาสตราจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายพิเศษในหัวข้อ“การขับเคลื่อนการใช้งาน Traffy Fondue แก้ปัญหาระดับ
เส้นเลือดฝอย กรุงเทพมหานคร” พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) นายวสันต์ ภัทรอธิคม ผู้อำนวยการหน่วยบริการนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง (สวทช.) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มทราฟฟี่ ฟองดูว์ ร่วมพิธีมอบประกาศเกียรติบัตร
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ขอชื่นชมและขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อประชาชน โดยยังมีอีกหลายจังหวัดและหลายหน่วยราชการที่ยังไม่ได้นำทราฟฟี่ ฟองดูว์ มาใช้เพื่อให้บริการประชาชน จึงขอเชิญชวนทุกท่านอีกครั้ง ซึ่งกระทรวง (อว.) พร้อมที่จะเดินหน้าทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ และขอขอบคุณสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นขุมพลังหลักด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทย ที่ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาแพลตฟอร์มทราฟฟี่ ฟองดูว์ จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญให้กับหน่วยราชการต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง
“รัฐบาลจะใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่า CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ จะมีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อสร้างโอกาสและสร้างประโยชน์ให้ประชาชนเป็นสำคัญ สนับสนุนการจัดการปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด โดยรัฐบาลจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส ขจัดช่องโหว่ในการทุจริต ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น” รัฐมนตรีกระทรวง อว. กล่าว
ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) โดยหน่วยบริการนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง (สวทช.) ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ‘ทราฟฟี่ ฟองดูว์’ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมือง และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยรับเรื่องร้องเรียนปัญหาเมือง โดยมีการขยายผลการใช้งานไปทั่วประเทศ ปัจจุบันระบบฯ ได้รับแจ้งเรื่องแล้วมากกว่า 373,000 เรื่อง มีหน่วยงานรับแจ้งในระบบรวมมากกว่า 10,400 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย เทศบาล มากกว่า 1,300 หน่วยงาน และองค์การบริหารส่วนตำบล มากกว่า 1,800 หน่วยงาน ครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศ โดยมี 14 จังหวัด ที่เข้าร่วมใช้งานแล้วทุกหน่วยราชการ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร,นครราชสีมา,อุบลราชธานี,ขอนแก่น,พะเยา,ลำพูน,ปราจีนบุรี,ภูเก็ต,เพชรบูรณ์,สมุทรปราการ,สระบุรี,เชียงใหม่,ลำปาง และสิงห์บุรี และอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อเข้าร่วมใช้งานทุกหน่วยราชการ อีก 3 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นนทบุรี และแม่ฮ่องสอน
“กิจกรรมในครั้งนี้ เริ่มจากการที่ (สวทช.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน โครงการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศระบบบริหารจัดการปัญหาและข้อร้องเรียน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาของประชาชน ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และยังเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาและขยายผลระบบรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และ สำนักงาน (ก.พ.ร.) ที่ต้องการให้เกิดการขยายผลการใช้งานระบบรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมือง (Traffy Fondue) ให้ครอบคลุม ทุกหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทุกภาคส่วน จึงถือเป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาบริการของรัฐ ให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการในโลกยุคดิจิทัล”
รองศาสตราจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่ (สวทช.) หน่วยงานภายใต้กระทรวง (อว.) ได้มอบเกียรติบัตรแก่หน่วยงานดีเด่นในการใช้แพลตฟอร์มทราฟฟี่ ฟองดูว์ เพื่อให้บริการประชาชน ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบราชการจากระบบท่อเป็นแพลตฟอร์ม ช่วยลดขั้นตอนการสั่งการและการดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้มีความสะดวกรวดเร็ว ประชาชนไว้วางใจและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีการนำทราฟฟี่ ฟองดูว์ ไปใช้งานและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาระดับเส้นเลือดฝอย กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีประชาชนร้องเรียนปัญหามาแล้ว 380,704 เรื่อง แก้ไขสำเร็จแล้ว 279,184 เรื่อง (73%) ประเภทปัญหาที่ได้รับแจ้งมากที่สุด คือ ถนน (21%) รองลงมา คือ เรื่องอื่นๆ (14%) ทางเท้า (9%) แสงสว่างและความปลอดภัย (ประเภทละ 6%) ความสะอาด น้ำท่วม และสิ่งกีดขวาง (ประเภทละ 5%) ท่อระบายน้ำและจราจร (ประเภทละ 4%) เป็นต้น
“ผลจากการใช้งานทราฟฟี่ ฟองดูว์ แก้ปัญหาระดับเส้นเลือดฝอย กรุงเทพมหานคร สะท้อนแล้วว่า พลังของแพลตฟอร์มเป็นสิ่งสำคัญในการกระจายอำนาจให้ประชาชน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ช่วยให้กรุงเทพมหานครรับปัญหาของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างทันท่วงที สิ่งเหล่านี้เป็นการนำเสียงของประชาชนเป็นที่ตั้งมากขึ้น ตอบโจทย์ของประชาชนให้มากขึ้น พยายามดูแลประชาชนให้ละเอียดขึ้น นี่จะเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครจะดำเนินการต่อไป”
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดรับแนวคิดจากภาคประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาให้ประชาชน กรุงเทพมหานครเตรียมพัฒนาต่อยอดทราฟฟี่ ฟองดูว์ สู่ทราฟฟี่ ฟองดูว์ พลัส (Traffy Fondue Plus) เพื่อดำเนินการนำร่องพัฒนาต่อยอดใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่
1.ด้านข่าวสารดี เพื่อติดตามเรื่องสำคัญมีผลกระทบต่อประชาชน ประชาชนสนใจและได้ประโยชน์
2.ด้านบริการดี ช่วยให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงข้อมูลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
3.ด้านข้อมูลดี เพื่อนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยเพิ่มศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูล และแก้ไขข้อร้องเรียน และ
4.ด้านสนุกดี เพื่อต่อยอดการร้องเรียนสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของประชาชน (Active Citizen)
สำหรับพิธีรับมอบเกียรติบัตร “หน่วยงานดีเด่นในการใช้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อบริการประชาชน” นอกจาก 14 จังหวัดที่มีการใช้งานทุกส่วนราชการแล้ว ยังมีหน่วยงานภาคส่วนอื่นๆ เข้ารับมอบกว่า 100 หน่วยงาน อาทิ หน่วยงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด, หน่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบล, หน่วยงานเทศบาล,หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน