ซีเอ็นเอ็น สื่อชื่อดังของสหรัฐฯ รายงานว่า แจร์รี่ บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกมาแถลงความคืบหน้าสถานการณ์เขื่อน ออโรวิลล์ ที่มีความสูงราว 235 เมตร มากที่สุดในสหรัฐฯ เกิดความเสียหายทางระบายน้ำล้น ทำให้อาจถล่มลงมาได้ ก่อนจะมีคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน และอพยพประชาชนราว 188,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใต้เขื่อนยังคงมีผลบังคับใช้
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานบริหารจัดการน้ำแห่งรัฐ ใช้วิธีหย่อนก้อนหินลงจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อซ่อมแซมช่องโหว่ที่เกิดขึ้นตามแนวเส้นทางระบายน้ำล้น และเร่งระบายน้ำส่วนเกินออกจากเขื่อน พร้อมทั้งก่อแนวคันกั้นน้ำจากกระสอบทราย แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าช่องโหว่ หรือรูดังกล่าวที่ลึกถึง 9 เมตร และยาว 60 เมตร เกิดขึ้นได้อย่างไรและตั้งแต่เมื่อใด แต่มีการประเมินสถานการณ์ว่า ทรงตัวมากขึ้น หลังระบายน้ำบางส่วนออก แต่ยังมีความกังวลว่าฝนอาจตกลงมาอีก
ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานว่า อาจเป็นผลจากฝนและหิมะที่ตกลงมาอย่างหนัก ในพื้นที่ทางเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังประสบกับภาวะแล้งอย่างรุนแรงมานานหลายปี และโครงสร้างเดิมของเขื่อนที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็น ภาวะฉุกเฉิน ครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดใช้งานเขื่อนเมื่อปี 2511 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า เส้นทางระบายน้ำล้นควรได้รับการซ่อมบำรุงแล้ว ในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่อีกกลุ่มกำลังประเมินสถานการณ์บริเวณแม่น้ำฟีเจอร์ที่อยู่ใต้เขื่อน และห่างจากเมืองซาคราเมนโตราว 105 กิโลเมตร
ด้าน กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ แห่งรัฐแคลิฟอร์เนียสำรองกำลังเจ้าหน้าที่ 23,000 นาย เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือประชาชน ในเวลาเดียวกัน วุฒิสมาชิกจากรัฐแคลิฟอร์เนีย 2 คน คือ นางไดแอน ไฟน์สไตน์ และนางคามาลา แฮร์ริส เรียกน้องให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จัดสรรงบประมาณฉุกเฉิน 162.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 5,680.5 ล้านบาท ) เพื่อให้ความช่วยเหลือปฏิบัติการซ่อมแซมเขื่อนของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วใช้เงินไปมากถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 3,500 ล้านบาท )