นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหามลพิษจากวัสดุเหลือใช้ และเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
วันที่ 7 กันยายน 2566 :กรุงเทพฯ : Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน-ภาครัฐ ประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ “Smart Recycling Hub : Building Plastic Circularity Ecosystem” โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง ป้องกันการเกิดขยะและการหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงเพื่อหมุนเวียนในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ
โครงการ Smart Recycling Hub พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG Economy Model โดยจะจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Material Recovery Facility : MRF) แห่งแรกของประเทศไทย และมีเป้าหมายเพื่อนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 50,000 ตันต่อปี โดยในระยะแรกจะศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ต้นแบบในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ EEC 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา และจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวางแผนเพื่อดำเนินการสร้างศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ ต้นแบบในพื้นที่นำร่องต่อไป
ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ จะจัดการพลาสติกและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทางและและแปรรูปอย่างครบวงจรเพื่อเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูง ที่สามารถนำไปหมุนเวียนใช้ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุ และสร้างรายได้
การร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของพันธมิตรกว่า 20 องค์กร นำโดย Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ),Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics),สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.),สถาบันพลาสติก,กรุงเทพมหานคร และสมาชิกของ AEPW ในประเทศไทย ได้แก่ Dow, SCGC และ INSEE Ecocycle และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาและดำเนินโครงการ
“AEPW เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่มีพันธกิจเพื่อป้องกันขยะพลาสติกปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มีความยินดีที่ได้เห็นความมุ่งมั่นและความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเดินหน้าให้เกิดการพัฒนาระบบการหมุนเวียนของพลาสติก เราพร้อมให้การสนับสนุนโครงการนี้เพื่อร่วมยกระดับการจัดการขยะพลาสติกในทุกมิติ พร้อมๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้จะถือเป็นโมเดลระบบนิเวศ นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร แห่งแรกในภูมิภาคนี้” นายเจค็อบ ดูเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AEPW กล่าว
“ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Dow และ ผู้แทนของ AEWP ผมประทับใจมากที่ได้เห็นการพัฒนาโครงการที่สำคัญนี้จนเป็นรูปเป็นร่างจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งนี้จะทำให้พวกเราประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งจะช่วยนำชุมชนและประชาคมโลกก้าวไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง” นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว (Dow) และ ประธานกรรมการ AEWP กล่าวเสริม
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ด้านสิ่งแวดล้อม) กล่าวว่า “กทม. มีเป้าหมายผลักดันให้กรุงเทพฯเป็น “กรุงเทพเมืองสะอาด” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ กทม. ที่ได้มีการรณรงค์ “ไม่เทรวม” เพื่อเชิญชวนประชาชน และทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมคัดแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะทั่วไป วัสดุรีไซเคิล และขยะแห้ง ดังนั้น ความร่วมมือของทุกฝ่ายในครั้งนี้จึงเป็นจุดสำคัญในการส่งเสริมนโยบายและต่อยอดโครงการของ กทม. เพื่อสร้างคุณค่าของวัสดุเหลือใช้และมีส่วนสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง เป็นระบบ ทำให้สามารถลดปัญหาขยะและงบประมาณในการจัดการได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ (วว.) กล่าวว่า “การบูรณาการความร่วมมือขององค์กรที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อการจัดตั้งศูนย์ฯ ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของคนไทย ไปขยายผลให้เกิดการใช้งานจริง สู่การสร้างต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน แบบครบวงจร ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สอดรับบริบทกับนโยบาย BCG Economy และทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก”
นายวีระ ขวัญเลิศจิต ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย และฝ่ายเลขานุการ PPP Plastics กล่าวว่า “ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเบื้องต้นจากโครงการนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาและจัดตั้งระบบและต้นแบบในพื้นที่นำร่องเพื่อสร้างศูนย์คัดแยกและแปรรูปวัสดุใช้แล้ว Material Recovery Facility (MRF) โดยจะนำผลสำเร็จจากการตั้งศูนย์นำร่องนี้ไปขยายผลยังพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพและ EEC ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว จะมีกลไกการทำงาน ในการคัดแยกวัสดุเหลือใช้ วัสดุรีไซเคิลและแปรรูปเบื้องต้น เพื่อเตรียมเป็นวัสดุรีไซเคิลที่สะอาด และมีคุณภาพสูง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน