วันที่ 7 ก.ย.2566 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. กล่าวถึงคดียิงสารวัตรตำรวจทางหลวงเสียชีวิตและบาดเจ็บ ว่า ตนสั่งการให้ทุกหน่วยงานในบชก. จัดกำลังลงพื้นที่ไล่ล่าอย่างเต็มที่ โดยมีหนุมานกองปราบ กับตำรวจทางหลวง เป็นกำลังหลัก มาตรการตอนนี้มุ่งไปที่การติดตามตัวคนร้ายให้ได้เป็นหลัก โดยเชื่อว่า นายธนัญชัย หมั่นมาก มือปืนผู้ก่อเหตุจะยังอยู่ในประเทศ จากนั้นก็เตรียมขยายผลถึงเครือข่ายของคนร้ายด้วยว่า ประกอบธุรกิจอะไรที่ผิดกฎหมายหรือไม่อีกด้วย
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า จากคำให้การของพยานในที่เกิดเหตุ เชื่อว่ากำนันนกลูกพี่ของนายธนัญชัย เกี่ยวพันด้วยอย่างแน่นอน เพราะหลังจากที่ผู้ตายมีปากเสียงกับตัวกำนันนกได้ไม่นาน มือปืนก็เดินเข้ามาก่อเหตุทันที ซึ่งจากพยานหลักฐานที่มีอยู่ก็น่าจะขอออกหมายผู้ต้องหาได้มากกว่า 1 คน นอกจากนี้ยังเตรียมขอโอนสำนวนคดีมาให้กองปราบรับผิดชอบด้วย
“คนร้ายกระทำการที่อุกอาจแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าผู้ตายเป็นตำรวจก็ยังกล้าลงมือ จึงกำชับเจ้าหน้าที่ชุดไล่ล่าทุกนายให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง รัดกุม เพราะคนร้ายมีอาวุธปืน มีกลุ่มทีมงานคอยช่วยเหลือ และรู้จักผู้มีอิทธิพลมากมาย หากคนร้ายต่อสู้ขัดขืนก็ให้ใช้มาตรการเด็ดขาด” ผบช.ก. กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับตัวกำนันนก ถือเป็นผู้กว้างขวางในพื้นที่ เพราะความสนิทสนมใกล้ชิดกับอดีตนักการเมืองใหญ่ระดับประเทศ รู้จักตำรวจ นักการเมืองท้องถิ่นมากมาย มักนัดพบดื่มสังสรรค์กันประจำ ประกอบมีแผนที่ฝากหลานชายซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพ.ต.ต.ศิวกร ให้ย้ายตำแหน่งหน้าที่ จึงวางแผนนัดหมายให้พ.ต.ต.ศิวกรมาร่วมงานเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนก็รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวยังสอดคล้องกับคำให้การของพยานที่ยืนยันว่า ก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ต.ศิวกร มีปากเสียงกับกำนันนก เรื่องฝากเปลี่ยนตำแหน่งให้หลานชายจากสายตรวจรถวิทยุ ไปเป็นสายตรวจจักรยานยนต์ แต่พ.ต.ต.ศิวกรได้ปฏิเสธไป ทำให้กำนันนกเกิดความไม่พอใจ ถึงกับเอ่ยว่า “ทำแบบนี้ไม่ให้เกียรติกันเลย หลานคนเดียวขอไม่ได้หรืออย่างไร” ก่อนทุบโต๊ะแล้วเดินออกไป จากนั้นแค่ 5 นาทีนายธนัญชัยก็เดินเข้าไปยืนข้าง ๆ ของพ.ต.ต.ศิวกร ก่อนลงมือดังกล่าว