นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในวาระเข้ากระทรวงคมนาคมเพื่อเริ่มงานวันแรก โดยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถแถลงนโยบาย และมอบหมายงานให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ เนื่องจากต้องรอให้นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 11 – 12 ก.ย.นี้ เสร็จเรียบร้อยก่อน
แต่อย่างไรก็ดี ตนและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาตามที่รัฐบาลมอบหมาย และเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศที่ครองสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) สูงถึง 15% แต่กลับพบว่าในนั้นมีการขนส่งระบบน้ำและรางเพียง 2% ดังนั้นไทยต้องลงทุนพัฒนาโลจิสติกส์เหล่านี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
อย่างไรก็ดี ตนมองว่าระบบขนส่งทางรางโดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ต้องมีการปรับปรุงให้ตรงเวลา เพื่อทำให้การขนส่งนั้นมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการที่มีความพร้อมแล้ว อาทิ รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย เนื่องจากโครงการนี้ศึกษาพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ตั้งใจมากที่จะทำ
ส่วนปัญหาที่เกิดกับโครงการรถไฟฟ้าทั้งในเรื่องของภาระหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้โครงการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นคงต้องให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณารายละเอียดด้วย
ขณะที่ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มปัจจุบันทราบว่ายังมีอีก 1 ข้อพิพาทที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วว่าทางคณะกรรมการคัดเลือก และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่ได้กระทำผิดขั้นตอน แต่อย่างไรก็ดีคงต้องรอให้การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สิ้นสุดก่อน
ส่วนเบื้องต้นแนวทางที่จะเป็นไปได้ทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คือ
1. เดินหน้าขั้นตอนประกวดราคาที่ค้างอยู่ในแล้วเสร็จ
2. ยกเลิกการประกวดราคาเดิมและเปิดประกวดราคาใหม่
ซึ่งแนวทางเหล่านี้เป็นไปได้ทั้งหมด คงต้องรอให้การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดออกมาก่อน
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ประเด็นนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ตนต้องขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านโยบายนี้ไม่เร่งด่วน เพราะยืนยันว่านโยบายนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะทำเพื่อแก้ไขปัญหาลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่เนื่องจากการผลักดันนโยบายนี้ต้องมีความพร้อมจากทั้งภาครัฐและเอกชนหารือร่วมกันในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม จึงต้องใช้เวลาในการหารือกับผู้ประกอบการ อีกทั้งต้องใช้เวลาติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ที่ประเมินว่าใช้เวลาอย่างเร็ว 1 ปี ดังนั้นจึงประเมินว่าจะใช้เวลาทำงานเรื่องนี้ 2 ปีสำเร็จ
“พอลดราคาค่าโดยสาร 20 บาท ผู้โดยสารก็จะเพิ่มขึ้น 10% รายได้ของผู้ประกอบการก็จะเพิ่มขึ้นทันที เมื่อเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งตอนนี้ทางกรมการขนส่งทางรางก็ประเมินตัวเลขออกมาแล้วว่าหากจะดำเนินการนโยบายนี้รัฐบาลต้องชดเชยเม็ดเงินเท่าไหร่ แต่ผมก็มอบหมายให้ไปหารือกับนักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ที่มีข้อมูลเรื่องนี้ และกลับมาทบทวนตัวเลขกัน ยืนยันว่า 20 บาทต้องทำแน่นอน แต่ขอเวลา”