ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของเช้าวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งตรงกับวันมาฆะบูชา ที่จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 05.34 – 09.53 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยจะกินเวลานานถึง 4 ชั่วโมง 19 นาที แต่ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 06.42 น. ทำให้มีเวลาสังเกตการณ์จันทรุปราคาเงามัว ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 05.34 – 06.40 น.
ทั้งนี้ เงามัวจะบังมากที่สุด เวลาประมาณ 07.43 น. ซึ่งถ้าสังเกตุด้วยตาเปล่าจะมองเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าในบริเวณเงามืด ดังนั้นดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลง แถมยังเป็นช่วงดวงจันทร์ใกล้จะตกลับขอบฟ้า ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตจันทรุปราคาเงามัวหนนี้ อย่างไรก็ตาม หากใช้กล้องโทรทรรศน์ หรือ การถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะที่เกิดปรากฏการณ์ จะเห็นความสว่างของดวงจันทร์ชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์จันทรุปราคา ที่สามารถสังเกตเห็นได้จากประเทศไทย จะเกิดขึ้นอีกครั้ง คือ จันทรุปราคาบางส่วน ในช่วงหลังเที่ยงคืน วันที่ 7 สิงหาคม ถึงเช้ามืด วันที่ 8 สิงหาคม 2560 ซึ่งดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก ตั้งแต่เวลา 00.22 น. และจะข้าไปอยู่ในเงามืดมากที่สุด เวลา 01.20 น. เพราะจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งเล็กน้อย ส่วนจันทรุปราคาเต็มดวง จะกลับมาให้คนไทยได้ชมอีกครั้งในปี 2561 โดยจะเป็นจันทรุปราคาเต็มดวง 2 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ในวันที่ 31 มกราคม และ 28 กรกฎาคม 2561