6 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. ที่ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วย ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมแถลงข่าวงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน ประชาชนชน เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว
สำหรับงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 19 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย วัดไตรภูมิ วัดโบสถ์ชนะมาร และพุทธอุทยานเพชบุระ จัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีกำหนดการที่สำคัญประกอบด้วย วันที่ 11 ตุลาคม 2566 กำหนดจัดพิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา เวลา 18.00 น. ณ พุทธอุทยานเพชบุระ จำนวน 2,566 คน วันที่ 12 ตุลาคม 2566 ได้กำหนดจัดพิธีบวงสรวง เวลา 09.09 น. ณ วัดไตรภูมิ และพิธีอัญเชิญองค์พระฯแห่รอบเมืองเพชรบูรณ์ เวลา 17.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้กำหนดจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีเทิดพระเกียรติ ณ เวทีกลาง และในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 เป็นพิธีอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ทวนน้ำจากท่าน้ำวัดไตรภูมิ ไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ในเวลา 10.39 น. โดยในปีนี้ใช้โขนหัวเรือ เหมวาริน ในการประกอบพิธี
ประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีตำนานที่ถูกเล่าขานมานานเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกกำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” หลังจากนั้นต่อมาในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกๆปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากจากโรคระบาดคุกคาม จนกลายมาเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน
มนสิชา คล้ายแก้ว/สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์