ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรและดินประจำสถาบันเพื่อความมั่นคงอาหารของโลก (Institute for Global Food Security)ในมหาวิทยาลัยควีนส์ออฟเบลฟาสต์ที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของอังกฤษ ประกาศการค้นพบล่าสุดที่น่าทึ่งว่า ถึงแม้ “ข้าว” ที่เป็นอาหารหลักของคนกว่าครึ่งโลกนั้นจะมีสารหนูอนินทรีย์ (arsenic)ที่เป็นพิษสะสมในระดับสูง โดยสารนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เนื่องมาจากสภาพของต้นกล้าที่ต้องการอยู่ในที่ลุ่มน้ำ แต่ทว่างานวิจัยของเมฮาร์กที่เป็นการค้นพบครั้งแรกในโลกระบุว่า สามารถแก้ไขได้ง่ายด้วยวิธีการหุงข้าวในเครื่องต้มกาแฟสามารถกำจัดสารหนูให้หมดไปได้ถึง 85% หลังก่อนหน้านี้ในปี 2008 นักวิจัยคนเดียวกันนี้พบว่า “ข้าวกล้องมีปริมาณสารหนูอนินทรีย์สะสมมากกว่าเมื่อเทียบกับข้าวขาวขัดสี”
แอนดี เมฮาร์ก (Andy Meharg) ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรและดินประจำสถาบันเพื่อความมั่นคงอาหารของโลก (Institute for Global Food Security)ในมหาวิทยาลัยควีนส์ออฟเบลฟาสต์ อังกฤษ ประกาศความสำเร็จครั้งแรกในโลกถึงวิธีการทำให้สารหนูอนินทรีย์ (arsenic) ที่เป็นสารพิษตามธรรมชาติสะสมอยู่ในข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนเกือบทั้งโลก รวมถึง ชาวไทย ให้หมดไปได้สำเร็จ
ทั้งนี้สื่ออังกฤษชี้ว่า สารหนูนี้เกิดจากลักษณะของการเพาะปลูก ซึ่งข้าวเป็นพืชที่ต้องปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง และยังพบว่าสารหนูตกค้างในข้าวนี้เป็นสาเหตุอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แต่ทว่าการหุงข้าวในเครื่องต้มกาแฟแบบตั้งเตาไฟจะสามารถช่วยกำจัดสารพิษที่ทำให้ก่อมะเร็งได้สำเร็จถึง 85%
เทเลกราฟอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า “ข้าว” เป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่ต้องเติบโตในสภาพน้ำที่ท่วมถึงในทุ่งนา และสภาพนี้ทำให้เกิดการปล่อยสารหนูที่เป็นสารอนินทรีย์ตามธรรมชาติออกมา และส่วนมากจะตกค้างอยู่ในแร่ธาตุดินในพื้นที่ ซึ่งต่อมาจะถูกดูดซึมโดยต้นกล้าที่ชาวนาทำการเพาะปลูก
และการสะสมสารหนูในระดับสูงนั้นเป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาสุขภาพด้านต่างๆตามมา
เมฮาร์กนักวิจัยผู้ค้นพบให้ความเห็นว่า งานวิจัยครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวแรกของโลกในการค้นพบวิธีการป้องกันโรคมะเร็งที่เกิดจากสารหนูสะสมในระดับสูงในข้าวด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดและได้ผลมากที่สุด
“ในงานวิจัยชิ้นนี้ ทางเราได้คิดค้นวิธีการหุงข้าวเพื่อที่จะกำจัดสารหนูอนินทรีย์ออกไป โดยทางคณะผู้วิจัยค้นพบว่า การใช้เทคโนโลยีกระบวนการกลั่นกาแฟด้วยการใช้เครื่องต้มกาแฟแบบตั้งเตาไฟที่พบเห็นได้ทั่วไปตามบ้านเรือนมากำจัดสารหนูที่สะสมในข้าวได้รับผลดี เพราะภายในหม้อต้มกาแฟประเภทนี้จะช่วยทำให้น้ำเดือดยังคงไหลผ่านไปยังข้าวในลักษณะที่ไหลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทางคณะผู้วิจัยพบว่า “เทคโนโลยีการกลั่นประเภทนี้จะสามารถลดระดับสารหนูสะสมตกค้างภายในเมล็ดข้าวได้มากที่สุด” เมฮาร์กกล่าว
นักวิจัยชาวอังกฤษยังระบุเพิ่มเติมว่า คนที่ต้องรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักและได้รับสารหนูตกค้างเป็นเวลานาน เสี่ยงที่สุดในการเกิดโรคด้านต่างๆที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคระบบประสาทถูกทำลาย แต่สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดในการได้รับสารหนูอนินทรีย์ในข้าวติดต่อเป็นเวลานานคือ “โรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ”
สื่ออังกฤษยังระบุว่า นอกจากนี้องค์การความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป ( European Food Safety Authority : EFSA) พบว่า “ข้าว” ยังเป็นอาหารที่มีระดับสารหนูสะสมมากเป็น 10 เท่าเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่น ดังนั้นเทเลกราฟจึงสรุปว่า ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับประชาชนในชาติที่ถือเป็นอาหารหลัก ซึ่งพบในหลายภูมิภาคของโลกที่กำลังพัฒนา เพราะมีความความเสี่ยงสูงเนื่องมาจากต้องบริโภคทุกวัน
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์ออฟเบลฟาสต์กำลังอยู่ในช่วงระหว่างการขอจดลิขสิทธิ์สำหรับการคิดค้นหม้อหุงข้าวแบบใช้เทคโนโลยีแบบการกลั่นกาแฟ และในไม่ช้าผู้บริโภคข้าวเป็นหลักจะสามารถหาซื้อเทคโนโลยีไว้ประจำครัวเรือนได้ในไม่ช้า
อย่างไรก็ตาม สารหนูในข้าวซึ่งเป็น agent ทำให้เกิดโรคมะเร็งไม่ใช่เรื่องใหม่ จากบทความทางวิชาการของดร. นุชนาถ รังคดิลก และ รองศาสตราจารย์ ดร. จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ว่าด้วย “ปริมาณของสารหนูในข้าว” ที่ถูกตีพิมพ์ 3 ปีก่อนหน้านี้บนเว็บไซต์ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมพิษวิทยาและจัดการสารเคมี (อพม) ยืนยันความเกี่ยวข้องระหว่างสารหนูอนินทรีย์และการเกิดโรคมะเร็งเนื่องมาจากการรับประทานข้าว
โดยชี้จากรายงานการวิจัยของเอ เอช สมิธ (A. H. Smith) และคณะ ในปี 1992 ภายใต้หัวข้อการวิจัย “ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งจากสารหนูในน้ำดื่ม” หรือ Cancer risks from arsenic in drinking water ระบุว่า สารหนูอนินทรีย์ซึ่งถือเป็นสารหนูที่เป็นพิษมากกว่าสารหนูประเภทอื่นทั้งหมด และยังสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้จริง ทั้งนี้ในการวิจัยของสมิธพบว่า ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งนั้นครอบคลุมไปถึง โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งที่ไต และโรคกระเพาะปัสสาวะ
นอกจากนี้ในบทความชิ้นนี้ของสองนักวิจัยชาวไทยยังระบุว่า จากงานวิจัยในหัวข้อ “สารหนูในน้ำดื่มและความเสี่ยงของโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ” (Arsenic in drinking water and risk of urinary tract cancer ) ของ Chen et al ในไต้หวัน ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ต่อเนื่อง พบว่า “การได้รับสารหนู ถึงแม้ว่าจะเป็นปริมาณน้อย แต่ได้รับเป็นระยะเวลานานตั้งแต่เกิดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น”
และที่น่าสนใจมากกว่านี้ ในบทความของนักวิจัยชาวไทยระบุเพิ่มเติมว่า ในงานวิจัยของเมฮาร์กและคณะในปี 2008ภายใต้หัวข้อการวิจัย “Speciation and localization of arsenic in white and brown grains” พบว่า จากการศึกษาปริมาณสารหนูในข้าวขาว (39 ตัวอย่าง) และข้าวกล้อง (45 ตัวอย่าง) ที่เก็บมาจากหลายที่ทั้งซุปเปอร์มาเกต แปลงทดลองนาข้าวของเมฮาร์ก ค้นพบว่า “ข้าวกล้องมีปริมาณสารหนูอนินทรีย์สูงกว่าข้าวขาว”
และในการศึกษาในปีถัดมา(2009) ของเมฮาร์กจากการสุ่มตัวอย่างหาสารหนูอนินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ข้าวขาวขัดสีจาก 10 ประเทศ (4 ทวีป) รวมทั้งข้าวจากประเทศไทยด้วย พบว่า ตัวอย่างข้าวจากประเทศอียิปต์และอินเดียมีปริมาณเฉลี่ยของสารหนูทั้งหมดต่ำที่สุด (0.04 และ 0.07 mg/kg ตามลำดับ) และข้าวจากประเทศอเมริกาและฝรั่งเศสมีปริมาณสารหนูทั้งหมดสูงที่สุด (0.25 และ 0.28 mg/kg ตามลำดับ) ส่วนข้าวขาวจากประเทศไทย (54 ตัวอย่าง) มีปริมาณสารหนูทั้งหมด 0.14 mg/kg (0.01-0.39 mg/kg)
และนอกจากนี้ บทความของของดร. นุชนาถ รังคดิลก และ รองศาสตราจารย์ ดร. จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในจีน ประเทศที่ถือว่า ข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับไทย พบว่าชาวจีนได้รับสารหนูอนินทรีย์เฉลี่ยถึงวันละ42 μg และข้าวเป็นต้นเหตุสำคัญในการสะสมสารหนูถึง 60% ของชาวจีนซึ่งก่อให้เกิดมะเร็ง โดยการอ้างอิงมาจากการวิจัยของLi และคณะในปี 2001