สุดท้ายก็ไปไม่รอด กทม.มีมติยกเลิกรถด่วนพิเศษ “บีอาร์ที” หลังหมดสัญญา 30 เมษายนนี้ เผยเป็นโครงการนำร่องยุค “หล่อเล็ก” ลงทุนไป 1.5 พันล้าน ขาดทุนยับปีละ 200 ล้าน แต่แก้จราจรไม่ได้จริง เร่งดึง ขสมก. เดินรถแทน “นวยนิ่ม” ชี้สตง.แจ้งเตือนถึงสองครั้งทำลายการคลังจากนโยบายประชานิยม
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯกทม. แถลงผลการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ว่า ที่ประชุมมีมติยกเลิกโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) สายสาทร-ราชพฤกษ์ หรือสายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี โดยใช้ผิวจราจร 1 ช่องทาง เพื่อรถเมล์บีอาร์ทีเป็นเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโครงการนี้ทำให้คนกลุ่มใหญ่ที่ใช้ถนนเกิดความรู้สึกต่อต้านขึ้นมา จนบางครั้งก็มีรถยนต์ขับในช่องพิเศษทำให้รถบีอาร์ทีไม่สามารถทำความเร็วได้ เมื่อใช้ความเร็วไม่ได้ก็ไม่มีคนนั่ง ซึ่งยอดผู้โดยสารมีส่วนหนึ่งจากเด็กนักเรียนและผู้สูงอายุที่นั่งฟรี ทำให้ กทม. ขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องปีละ 200 ล้านบาททุกปี
“ขณะเดียวกันสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ทำหนังสือแจ้งเตือนให้ กทม.ทบทวนโครงการมา 2 ครั้งว่า ไม่ใช่ภารกิจของ กทม. และเป็นโครงการทำลายวินัยการเงินการคลัง ไม่ได้ช่วยแก่ปัญหาจราจร ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มเป้าหมาย และไม่ได้ให้บริการกับประโยชน์สาธารณะ” พล.ต.ท.อำนวย กล่าว
ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ได้ประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่สภากทม.ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญได้ให้แนวทางกับกทม. โดยเฉพาะสตง.ให้ทบทวนและยุติโครงการนี้เพราะไม่คุ้มทุนและเพิ่มภาระงบประมาณ ที่สุดแล้วคณะกรรมการบริหารฯจึงมีมติยุติโครงการบีอาร์ทีเมื่อหมดสัญญาวันที่ 30 เม.ย. 2560 จากนั้นจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และจะประสานให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) มาเดินรถเเทน
ส่วนสถานีบีอาร์ทีนั้นก็จะให้ขสมก.ใช้รับและส่งผู้โดยสาร นอกจากนี้จะมีการคืนผิวจราจรให้ประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการไม่ใช่ภารกิจหลัก กทม. มีการทำลายการคลังกทม. โครงการนี้ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล เป็นนโยบายผู้บริหารสมัยหนึ่ง โดยบางโอกาสเอาไปสร้างคะแนนนิยม หรือโครงการประชานิยม รวมถึงไม่ได้ให้บริหารกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง และไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการเดินทางได้ ตามที่สตง.เคยทำหนังสือแจ้งเตือนเมื่อปี 2557
“โครงการนี้ลงทุนไป 1,500 ล้านบาท เฉลี่ยขาดทุน 200 ล้านต่อปี มีการเปลี่ยนผู้ว่าฯกทม. มา 2 คนแล้ว” พล.ต.ท.อำนวย กล่าว
ข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการบีอาร์ทีดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 ให้บริการเดินรถในช่องทางพิเศษบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนพระรามที่ 3 สะพานพระราม 3 และถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร 12 สถานี เปิดให้บริการมาแล้วเป็นเวลา 6 ปี ใช้เงินลงทุนมากถึง 2,009 ล้านบาท และสัญญาโครงการจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย. 2560 ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 23,000-24,000 คนต่อวัน
ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. สมัยนายอภิรักษ์ เป็นผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า รู้สึกน่าเสียดายเพราะมีผู้ใช้บริการรถบีอาร์ทีพอสมควรประมาณ 2 หมื่นคนต่อวัน ที่ผ่านมาแม้ กทม. แบกรับการขาดทุนต่อวันประมาณ 5 แสนบาท แต่เมื่อเทียบกับการขาดทุนของรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ขาดทุนวันละ 3.5 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก อีกทั้งก่อนที่จะยกเลิกทำไมกทม.ไม่ปรับปรุง เช่น ปรับค่าโดยสารจาก 5 บาทเป็น 10 บาท หรือสอบถามความเห็นกับผู้ใช้บริการก่อน