วันที่ 20 สิงหาคม 2566 ที่วัดประยูรธรรมาราม ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ชาวกะเหรี่ยงในชุดพื้นเมืองกว่าพันคน เข้าร่วมพิธีผูกข้อมือประจำปี 2566 โดยมีชาวกะเหรี่ยงส่วนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาวที่มาทำงานและเรียนหนังสือในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ข้างเคียงเข้ามาร่วมงาน
ในปีนี้ ชาวกะเหรี่ยงได้รับความเมตตาจาก หลวงพ่อพระราชสุทธิ ธรรมมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดประยูรธรรมาราม ที่เมตตาสถานที่ให้ภายในวัด เพื่อที่จะได้เดินทางมากันสะดวก สำหรับชาวกะเหรี่ยงที่เดินทางมานั้นก็จะมาจากตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และย่านสมุทรปราการ เมื่อถึงเวลานิมนต์คณะสงฆ์สวดเจริญพุทธมนต์ให้กับชาวกะเหรี่ยงพร้อมถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์หลังจากนั้นพระภิกษุสงฆ์ให้พรเสร็จก็รับโอวาทจาก หลวงพ่อพระราชสุทธิธรรมมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี พร้อมกับแจกสายสิน สีแดงและสีขาวเพื่อผูกข้อมือเรียกขวัญให้กับชาวกะเหรี่ยงเป็นอันเสร็จพิธี โดยในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คูคต ดูแลรักษาความปลอดภัย
สำหรับงานผูกข้อมือเรียกขวัญของชาวกะเหรี่ยง เป็นประเพณียิ่งใหญ่เสริมสิริมงคลที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ พิธีเริ่มจากขบวนแห่ถาดบรรจุอุปกรณ์การผูกข้อมือโดยหนุ่มสาว 7 คู่ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงถือว่าเลข 7 เป็นเลขมงคล เข้ามาวางให้ผู้ใหญ่ชายหญิง 7 คู่เช่นเดียวกันเป็นผู้เรียกขวัญและผูกข้อมือให้ จากนั้นผู้มาร่วมงานจะทยอยมาให้ผู้ใหญ่ผูกข้อมือให้ แล้วผูกข้อมือเรียกขวัญให้กันและกันเอง โดยอุปกรณ์ในการเรียกขวัญและผูกข้อมือในถาด ประกอบด้วย ไม้หรือทัพพีตักข้าว ไว้สำหรับเคาะเรียกขวัญให้กลับมา ด้ายสีขาวสำหรับผูกข้อมือ ข้าว อ้อย กล้วย และน้ำ ซึ่งเป็นอาหารสำหรับให้ขวัญได้กินอิ่มแล้วกลับมาคุ้มครองตัวคน ทั้งนี้ประเพณีการผูกข้อมือเรียกขวัญยังทำให้คนในครอบครัว ในชุมชน ที่ห่างบ้านเกิดมาทำงานหรือเรียนหนังสือในเมือง ได้กลับมาพบปะกัน และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนกับชุมชน เป็นการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมและเป็นเครื่องสะท้อนถึงการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยถือว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศ บางส่วนหลั่งไหลมาจากประเทศเพื่อนบ้าน.
ภาพ/ข่าว สมาคมนักข่าวจังหวัดปทุมธานี