เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 : นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานเปิดการประกวดผลงานการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้วยโปรแกรม Scratch สำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ระดับประถมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมี รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.),นางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา,คณะทำงานฯ,คณะวิทยากรจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง,จากโรงเรียนหนองเสือวิทยาคม จังหวัดปทุมธานี และครูโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมการประกวดฯ เข้าร่วม ณ โรงแรมแจ๊สโซเทล เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจ สังคมโลก เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ในด้านอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สังคม มีการทำธุรกรรมออนไลน์ การเข้าถึงติดต่อสื่อสาร นำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ส่วนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารก็ได้รับการนำไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการทำงาน การศึกษา การเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้น คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องปลูกฝังให้ครูและนักเรียนได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคำนวณ (Coding) ซึ่งเป็นการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรได้รับการปลูกฝัง นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ รัฐจึงได้วางนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ที่เน้นขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศไทย ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ “ประเทศในโลกที่หนึ่ง” ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามแนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องมีพื้นฐานความรู้ และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงหรือพัฒนานวัตกรรม และใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการสร้างองค์ความรู้หรือสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้รายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) อยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนให้ใช้ทักษะการคิดเชิงคำนวณ สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ สามารถนำสารสนเทศไปใช้ในการแก้ปัญหาและประยุกต์ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชนโดยการจัดอบรมให้ความรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มาตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ตลอดจนส่งเสริมให้ครูได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาถ่ายทอด ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้สู่ผู้เรียน และเพื่อเป็นการขยายผลการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมและส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับครูผู้สอน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน