เมื่อวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566 พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลสาคู อำเภอถลางจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับคณะจากกรมต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กรมสารวัตรทหารเรือ และผู้แทนผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพสูงชัน พบการทำลายต้นไม้ด้วยการตัดท่อน้ำเลี้ยงปล่อยให้ยืนต้นตาย และตัดต้นไม้จำนวนมาก เพื่อปลูกทุเรียน ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว และพบทางน้ำที่ไหลจากเขาลงแหล่งน้ำ ห่างจากสนามบินนานาชาติภูเก็ต เพียงระยะประมาณ 2 กิโลเมตร
นอกจากนั้น พบว่า มีการก่อสร้างอาคารถาวรลักษณะเป็นบ้านพักตากอากาศ ในพื้นที่ความมั่นคงทางด้านการบิน ซึ่งสามารถมองเห็นเครื่องบินขณะขึ้นลงของสนามบินนานาชาติภูเก็ต และมองเห็นชายหาดในยาง ภายในอุทยานแห่งชาติสิรินาถที่สวยงามได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญยังพบว่าการก่อสร้างอาคารถาวรฯ ดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลสาคู
ร้อยตำรวจเอก ปิยะ เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่ตรวจสภาพพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เนื่องจากพื้นที่ป่าบางขนุนถูกบุกรุกทำลายจากบุคคลและกลุ่มบุคคล และกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับไว้เป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2564
ต่อเนื่องมาจากพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคถลาง ที่ได้รับอนุญาตใช้จากกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ.2540 ที่มอบให้กรมอาชีวศึกษาใช้เพื่อจัดการศึกษา และเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 พรรษาของจังหวัดภูเก็ต โดยพื้นที่บริเวณนี้ กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ทหารเรือใช้พื้นที่กว่า 3,700 ไร่
“กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เมื่อสืบสวนสอบสวนพบการกระทำความผิดพระราชบัญญัติต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่เข้าพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ จึงต้องบังคับใช้กฎหมายโดยความเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน”
ทางด้านพลเรือโท อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 กล่าวว่า วันนี้ได้พบกับตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหลักฐานเชิงลึกที่เกี่ยวกับตัวบุคคลและกลุ่มบุคคล ที่น่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิดทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการค้า และเข้ามูลฐานการฟอกเงิน ซึ่งต่อไปนี้ทางด้านคดีการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดก็น่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในส่วนของทัพเรือภาคที่ 3 ก็จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนพนักงานสอบสวนคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนการใช้พื้นที่ก็จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมป่าไม้อย่างเคร่งครัด และพยายามจะปลูกไม้ป่าพื้นถิ่นเดิมให้มีความหลากหลายในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายปลูกพืชเชิงเดี่ยว
การบุกรุกทำลายป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะดินและน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของการบิน และทำลายภูมิทัศน์ที่สวยงามของจังหวัดภูเก็ต กรมสอบสวนคดีพิเศษ และทัพเรือภาค เร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิมต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน