แอร์เอเชียยืนยัน 150 บาทคำนวณจากต้นจริง หลังสรรพสามิต เผย การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันครั้งนี้ ทำให้ค่าตั๋วปรับขึ้นประมาณ 50 บาท แต่ไม่ถึง 150 บาท
หลังจากมติ ครม.เห็นชอบปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่นเครื่องบินภายในประเทศ ทำให้สายการบินภายในประเทศประกาศปรับขึ้นราคาค่าตั๋วโดยสาร 150-200 บาท โดยนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ตามที่มติ ครม.เห็นชอบปรับขึ้นภาษีน้ำมันจากเดิมเก็บที่ 22 สต.ต่อลิตร เพิ่มเป็น 4.89 บาท หรือจากเดิม 1% เป็น 23% ทำให้ต้นทุนค่าน้ำมันของสายการบินเพิ่มกว่า 1,400 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วส่งผลให้ต้นทุนค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 150 บาท/คน/เที่ยว
จึงมีความเป็นจำเป็นต้องเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากผู้โดยสาร เฉพาะเที่ยวบินในประเทศเท่านั้น รวมแล้วผู้โดยสารต้องจ่ายค่าตั๋ว + ค่าภาษีสนามบิน + ภาษีสรรพสามิต
ทั้งนี้พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลของการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินในครั้งนี้ คือการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและเป็นไปตามกลไกตลาด อีกทั้งรายได้ที่เกิดจากการเก็บภาษีนั้น รัฐจะคืนกลับแก่ประชาชนในหลากหลายรูปแบบ เช่นการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ลานบิน ระบบความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจากการคำนวณต้นทุนของกรมสรรพสามิตพบว่าการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินครั้งนี้ ทำให้ค่าตั๋วปรับเพิ่มประมาณ 50 บาท ไม่ถึง 150 บาทต่อเที่ยว เพราะเครื่องบินขนาดกลาง จะใช้น้ำมันประมาณ 2,500 ลิตรต่อชม. หรือมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 9,500-10,000 บาท หากนำไปเฉลี่ยกับจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินแล้ว กรมสรรพากรสามิตเห็นว่า ราคาควรจะเพิ่มขึ้นเพียง 45-50 บาทเท่านั้น
ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า พลโทสรรเสริญ อธิบายว่าที่ต้องขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินเพราะต้องเอางบไปซ่อมแซมอาคารผู้โดยสารและซ่อมลานบิน ทั้งที่ความจริงแล้วการท่าอากาศยานเป็นรัฐวิสาหกิจ ผลประกอบการกำไรมหาศาลมีเงินจ่ายโบนัสพนักงาน และมีรายได้จากการเรียกเก็บการใช้บริการจากสายการบินต่างๆ เครื่องบินไม่ได้จอดฟรี เรียกเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายเท่านั้นดังนั้นเงินภาษีน้ำมันที่พลโทสรรเสริญ พูดว่าเอาไปซ่อมแซมสิ่งเหล่านั้นจึงไม่เป็นความจริง