นักวิจัยญี่ปุ่นค้นพบโดยบังเอิญ หลุมดำท่องทางช้างเผือกตามลำพัง นับเป็นวัตถุชนิดหายาก
หลุมดำเกือบทั้งหมดที่เคยตรวจพบมักมีแผ่นจานสะสมสาร หรือปล่อยรังสีที่มองเห็นได้ หลุมดำที่ไม่ปล่อยพลังงานใดๆเลยนั้น แทบไม่อาจตรวจพบได้เลย การค้นพบหลุมดำที่เดินทางอย่างเงียบเชียบดวงนี้นับว่าโชคช่วย มาซายะ ยามาดะ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเคอิโกะ ผู้ค้นพบหลุมดำเดียวดาย บอกว่า ตัวเองไม่ได้ตั้งใจค้นหาหลุมดำ แต่กำลังศึกษาซูเปอร์โนวา ดับเบิลยู44 ซึ่งหลงเหลือจากการระเบิดของดาวฤกษ์ขนาดยักษ์เมื่อสิ้นอายุขัย ดับเบิลยู 44 อยู่ห่างจากโลก 100,000 ปีแสง เขาต้องการตรวจวัดดูว่า พลังงานจากการระเบิดที่ส่งผ่านไปยังเมฆก๊าซที่ห้อมล้อมนั้น มีมากน้อยแค่ไหน
เขากับอาจารย์ โทโมฮารุ โอกะ รายงานในวารสาร Astrophysical Journal Letters ว่า ขณะกำลังศึกษาโมเลกุลของก๊าซ เขาตรวจพบการเคลื่อนที่ของวัตถุด้วยความเร็วและทิศทางที่ผิดปกติทีมวิจัยตั้งชื่อมันว่า “กระสุน” เจ้า “Bullet” ที่ว่านี้มีกรวยที่หมุนในอัตรา 100 กม./ชม. แถมมันยังหมุนรอบตัวเองสวนทางกับทิศทางการหมุนของกาแล็กซีทางช้างเผือกด้วย
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งสองนำเสนอแบบจำลอง 2 ทฤษฎี ตามแบบจำลองแรก มวลก๊าซที่ถูกขับออกมาจากแรงระเบิดได้เคลื่อนผ่านหลุมดำ แรงโน้มถ่วงของหลุมดำได้เร่งการเคลื่อนที่ของก๊าซเหล่านั้น ถ้าเป็นในกรณีนี้ หลุมดำดวงนี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 3.5 เท่า ตามทฤษฎีที่สอง หลุมดำตะลุยผ่านกลุ่มเมฆก๊าซของดับเบิลยู44 ลากดึงเอาก๊าซเข้าหาแล้วหมุนปั่นจนมันกลายเป็นลำที่มีความหนาแน่นสูง หากเป็นกรณีหลัง หลุมดำมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์อย่างน้อย 36 เท่าจนถึงขณะนี้ เพิ่งค้นพบหลุมดำในทางช้างเผือกแค่ 60 ดวง แบบจำลองบ่งบอกว่าอาจมีหลุมดำในกาแล็กซีของเราตั้งแต่ 100 ล้านจนถึง 1,000 ล้านดวง.