เมืีอวันที่ 7 สิงหาคม 2566 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดพิธีมอบรางวัล “ชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งเป็นการขยายผลความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ชุมชนสังคมด้วยวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง (วช.) และ (กอ.รมน.) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) และ พลโท วิกร เลิศวัชรา รองเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นประธานมอบรางวัลฯ ณ เวที Highlight Stage ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 : Thailand Research Expo 2023” ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นกลไกหนึ่งในการร่วมปฏิบัติพัฒนานำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ ตามเจตจำนงของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก สร้างพลังสังคม พลังชุมชน นวัตกรรมชุมชนนวัตกรรมสังคมเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง โดยเห็นความสำคัญของการร่วมมือกับ กอ.รมน. หน่วยงานภาคความมั่นคงที่ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางสังคม ความมั่นคงแบบพิเศษ ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอาหาร รวมถึงความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่าง (วช.) และ (กอ.รมน.) นับเป็นความร่วมมืออันดีในการส่งต่อองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่พื้นที่ชุมชน สู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคงสู่ประชาชนในพื้นที่ของ (กอ.รมน.) ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งบนฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม
พลโท วิกร เลิศวัชรา รองเลขาธิการ (กอ.รมน.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่าง (กอ.รมน.) และ (วช.) พบว่าชุมชนที่ได้รับการถ่ายทอดนวัตกรรมจากนักวิจัย ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ในเรื่องขององค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ต้องศึกษาเรียนรู้ ความพร้อมในด้านต่างๆ ของชุมชนที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับนวัตกรรม ตลอดจนการระบาดของไวรัส โคโรน่า 2019 ล้วนเป็นด่านอุปสรรคของกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งสิ้น ที่สำคัญอย่างยิ่งคือสมาชิกในชุมชนต้องให้ความร่วมมืออย่างยิ่ง ต้องเสียสละมีความอดทน มีความตั้งใจสูงในอันที่จะเรียนรู้นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่นักวิจัยถ่ายทอด กอ.รมน. และ (วช.) มีจึงได้จัดให้มีการมอบรางวัลนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชุมชน รวมถึงนักวิจัยผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน โดยมีการนำนวัตกรรมของ (วช.) ไปต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน และเป็นการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการผลิต เพิ่มรายได้ และที่สำคัญ คือ ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความเสียสละ และความสามัคคีในชุมชนเป็นอย่างดี ซึ่งรางวัลนี้จะเป็นกำลังใจให้กับชุมชนที่ได้ร่วมกันเสียสละเพื่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม และจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคง ยั่งยืน ตลอดไป
สำหรับรางวัล “ชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม” ในปีงบประมาณ 2565 มีชุมชนที่ได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้
รางวัลชุมชนชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเภทดีเด่น จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่
1.วิสาหกิจชุมชนหัตกรรมสร้างอาชีพห้วยไร้ จังหวัดเพชรบูรณ์
2.วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรพอเพียงแบบผสมผสานบ้านนาอิน จังหวัดอุตรดิตถ์
รางวัลชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเภทชมเชย จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่
1.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าว (ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน) จังหวัดตาก
2.วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรป่าข่ะสามัคคี จังหวัดนครนายก
3.วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านวังสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี
4.วิสาหกิจชุมชนเกษตรตำบลจรเข้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โล่รางวัลขอบคุณให้แก่นักวิจัย ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดนวัตกรรมได้อย่างใกล้ชิดชุมชน จำนวน 6 ท่าน ได้แก่
1.รศ.ดร.กันต์ อินทวงศ์
2.ผศ.ดร.เชิดพงษ์ เขียวชาญวัฒนา
3.รศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน
4.ผศ.ดร.บุศรากรณ์ มหาโยธี
5.รศ.ดร.จักรมาส เลาหวณิช
6.ผศ.พล.อ.ต.หญิง ดร.ชญาดา เข็มเพชร
การมอบรางวัล “ชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม” ในครั้งนี้ เป็นการขยายผลความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ชุมชนสังคมด้วยวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง (วช.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งโดยริเริ่มสนับสนุนการให้รางวัลแก่ชุมชนต้นแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปปฏิบัติพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน