ซีเอ็นเอ็น สื่อชื่อดังสหรัฐฯ รายงานว่า ศาสตราจารย์ นิโคลาส เดิร์กส อธิการบดีมหาวิทยาแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขต เบิร์กลีย์ (ยูซีเบิร์กลีย์) ออกมาประณามผู้ร่วมก่อเหตุจลาจลที่สถาบัน โดยมีชายฉกรรจ์มากกว่า 100 ราย ที่สวมชุดดำพร้อมอำพรางใบหน้า เขามาทำลายทรัพย์สินภายในมหาวิทยาลัย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลัง ยูซีเบิร์กลีย์ เป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น รวมถึงแนวคิดทางการเมืองของ ไมโล เยียนโนปูลอส วัย 32 ปี นักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษ เชื้่อสายกรีก และเป็นบรรณาธิการฝ่ายเทคโนโลยีของเว็บไซต์แนวขวาจัด “ไบรต์บาร์ต” Breitbart.com ปัจจุบันมีนักศึกษาราว 38,000 คน
อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมงานประชุมของ เยียนโนปูลิส ที่ ยูซีเบิร์กลีย์ ต้องถูกยกเลิก หลังนักศึกษาและประชาชนทั่วไปราว 1,500 คน ได้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการเข้าร่วมงานของ เยียนโนปูลอส เนื่องจากมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง และสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถมยังติดแบล็คลิสต์ทวิตเตอร์ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา หลังทวีตข้อความเหยียดเชื้อชาติ และสีผิว รวมถึงปลุกระดมผู้อื่นให้มีความคิดแบบเดียวกับเขา ทำให้การชุมนุมถึงขั้นบานปลายเป็นการจลาจล เพราะมีการทุบทำลายข้าวของ จุดไปไฟเผามหาวิทยาลัย ส่งผลให้ ยูซีเบิร์กลีย์ ต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ ด้วยการยิงกระสุนยางและฉีดแก๊สน้ำตา
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ตำหนิเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมเตือนตัดงบประมาณสนับสนุนด้านงานวิจัยของสถาบัน ทำให้นักวิชาการและจากหลายๆฝ่าย ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีนี้ โดย บาร์บารา ลี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 13 รัฐแคลิฟอร์เนีย ครอบคลุมเมืองเบิร์กลีย์ จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ผู้นำสหรัฐฯ กำลังจะใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ด้าน ดอล เฮลเลอร์ ประธานของมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก และนักวิชาการอีกหลายคนกล่าวไปในทางเดียวกันว่า แม้กฎหมายยังเปิดช่องให้ทำได้ แต่ ทรัมป์ ไม่มีอำนาจโดยตรงในเรื่องนี้ เนื่องจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางมาในรูปแบบของเงินทุนกู้ยืม เพื่อการศึกษาและเงินสนับสนุนโครงการวิจัย อีกทั้งต้องผ่านการลงมติของสภาคองเกรสก่อน
ทั้งนี้ ยูซีเบิร์กลีย์ ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตันปีละ 450-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,750-17,500 ล้านบาท) โดยเกือบครึ่งเป็นทุนการศึกษา