อย. ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ปราบปรามผู้กระทำความผิดลักลอบผสมกับยาแก้ไอชนิดน้ำที่มีส่วนผสมของยาทรามาดอล ยึดของกลางมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. นำหมายค้นศาลจังหวัดมีนบุรี เข้าตรวจค้น 3 จุด ได้แก่ ร้านยาบ้านขวัญ ฟาร์ม่า เลขที่ 35/8 ถนนเลียบคลองวารี แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร , อาคารพาณิชย์ติดกับร้านยาบ้านขวัญ ฟาร์ม่า ถนนเลียบคลองวารี แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร , ร้านดีแอนด์ดี ฟาร์ม่า เลขที่ 19/2 ถนนราษฎร์ร่วมใจ แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้นพบของกลางจำนวนมาก ได้แก่ ยาแก้ปวด ( ทรามาดอล ) จำนวน 46,300 แคปซูล ,ยาแก้ไอและยาแก้แพ้ ชนิดน้ำ จำนวน 10,000 ขวด , ยาแก้ไอ ชนิดเม็ด จำนวน 5,800 เม็ด , ยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 7,600 เม็ด รวมมูลค่า 1,500,000 บาท เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาดังนี้ ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษขณะที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่ มีโทษปรับ 1,000 – 5,000 บาท , ขายยาแผนปัจจุบันนอกเวลาทำการ มีโทษปรับ 2,000 – 10,000 บาท , ผู้ขาย (ขายยาแผนปัจจุบัน) โดยไม่จัดทำบัญชียา มีโทษปรับ 2,000 – 10,000 บาท , ผู้ขาย (ขายยาแผนปัจจุบัน) โดยขายยาที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับ 2,000 – 10,000 บาท ,เก็บยานอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับ 2,000 – 5,000 บาท ,ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเตือนร้านขายยาทุกแห่ง อย่าจำหน่ายยาแก้ไอ และยาอันตรายใด ๆ ให้แก่กลุ่มวัยรุ่นหรือบุคคลใดที่คาดว่าจะนำไปใช้ในทางที่ผิด กรณียาแก้ไอ ตามประกาศฯ เรื่อง การควบคุมการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอที่มี ไดเฟนไฮดรามีน หรือ โปรเมทาซีน หรือ เดกซ์โตร- เมธอร์แฟน เป็นส่วนประกอบ ได้จำกัดปริมาณการจำหน่ายจากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขาย ไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 3 ขวด เพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ กรณียาอันตราย ทรามาดอล อย. มีมาตรการเข้มงวด โดยให้จำหน่ายยาเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการการแพทย์เท่านั้น ห้ามจำหน่ายยาให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีในทุกกรณี หากพบร้านขายยาใดฝ่าฝืน นอกจากดำเนินคดี ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว จะถูกเสนอคณะกรรมการยาให้ความเห็นชอบในการพักใช้ใบอนุญาตขายยาต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนผู้บริโภค พบร้านขายยาใด ๆ ขายยาทรามาดอลให้แก่เยาวชน หรือขายยาดังกล่าวโดยไม่มีเภสัชกรประจำร้านขอให้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่านทาง Oryor Smart Application และ เดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเองที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) อย.ได้ทุกวันในเวลาราชการ