“แยกรัชโยธิน” ถือเป็นจุดสำคัญเส้นทางจราจรเมืองกรุง จากสถิติรถเข้าออกถึง 2 แสนคันต่อวัน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าภาพการก่อสร้าง ได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อปรับแผนรองรับการก่อสร้าง และแจ้งเตือนประชาชนปรับเปลี่ยนเส้นทางจราจร ภายหลัง “สะพานข้ามแยกรัชโยธิน” ถูกรื้อถอน เพื่อปักหมุดก่อสร้าง “อุโมงค์ลอดแยก” แนวถนนรัชดาภิเษกกว้าง 4 ช่องจราจร ความยาว 1,085 เมตร ลึก 7.50 เมตร กว้าง 16.80 เมตร งบประมาณ 1.5 พันล้าน ระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือน เริ่มตั้งแต่ 26 มกราคม 2560 ไปจนถึงเปิดใช้งาน 9 กุมภาพันธ์ 2562
ระหว่างนี้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว(เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 1 จะเริ่มเข้ารื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดิน บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 46 ถึงแยกรัชโยธิน เพื่อก่อสร้างโครงสร้างอุโมงค์ทางลอด “ใจกลาง” สี่แยกรัชโยธิน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเบี่ยงเส้นทางจราจรบนถนนรัชดาภิเษก และถนนพหลโยธิน ตั้งแต่จันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 ถึงพุธที่ 31 พฤษภาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับเส้นทางเบี่ยงการจราจร เริ่มตั้งแต่ 1.ปากซอยรัชดาภิเษก 46 ถึงแยกรัชโยธิน จะเบี่ยงช่องทางการจราจรฝั่งขาเข้า (ชิดบาทวิถี) จำนวน 2 ช่องทาง ทำให้ช่องทางการจราจร ฝั่งขาเข้าคงเหลือ 3 ช่องทางและฝั่งขาออกคงมี 3 ช่องทาง
2.กลางสี่แยกรัชโยธิน จะเบี่ยงช่องทางการจราจรบนถนนพหลโยธินและถนนรัชดาภิเษก ทำให้ช่องทางการจราจร ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกคงมี 3 ช่องทาง โดยจัดให้เดินรถผ่านแยกรัชโยธินเป็นรูปแบบ “วงเวียนแยกรัชโยธิน” เป็น 4 เลน โดยผู้รับเหมาจะเตรียมก่อสร้าง “สะพานรถยนต์ข้ามแยก” แนวถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นโครงสร้างเดียวกับทางวิ่งยกระดับของรถไฟฟ้าสายสีเขียว สะพานข้ามแยกในจุดนี้เริ่มก่อสร้าง 15 พฤษภาคม 2560 ระยะเวลาก่อสร้าง 11 เดือน ไปจนถึงเปิดใช้วันที่ 15 เมษายน 2561
ขณะที่กิจการร่วมค้ายูเอ็น-เอสเอช-ซีเอช ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 2 จะก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า บริเวณโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย บริเวณพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ จะมีการเบี่ยงช่องทางจราจรบนถนนพหลโยธินฝั่งขาออก ไปใช้จราจรฝั่งขาเข้า 1 ช่องทาง ทำให้มีช่องทางจราจรทั้งฝั่งขาออกและฝั่งขาเข้าคงเหลือฝั่งละ 1 ช่องทาง ตั้งแต่พุธที่ 25 มกราคม 2560 ถึงอังคารที่ 31 มกราคม 2560 ระหว่างเวลา 22.00– 05.00 น.
ส่วนจุดสำคัญที่หลายคนเป็นห่วงและเตรียมปาดเหงื่อ จากกระแสข่าวการปิด ห้าแยกลาดพร้าว แยกที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ระบายการจราจรในกรุงเทพฯ ชั้นใน ผู้รับเหมาจะเริ่มเปิดไซต์งานก่อสร้างส่วนเชื่อมต่อโครงสร้างรถไฟฟ้า กับรางรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีหมอชิต (N8) ตามแนวถนนพหลโยธินพาดข้ามโทลล์เวย์ มายังถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว(N9) หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดที่มีความสูงสุดอยู่ที่ 26 เมตร เทียบเท่ากับตึกได้ถึง 7-8 ชั้น
ล่าสุด รฟม.ได้แบ่งพื้นที่ก่อสร้างบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เป็น 5 โซน A B C D E จะเริ่มงานในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ โดยผู้รับเหมาจะลงพื้นที่หน้าห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ถึงสวนสมเด็จย่า จะมีการ“ปิด” ช่องจราจรชิดเกาะกลางขาเข้าและขาออก 1 ช่องจราจร จากนั้นจะปิดการก่อสร้างในโซน E ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารทหารไทย ตรงข้ามสวนจตุจักร (ดูล้อมกรอบ)
“พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อธิบายว่า เนื่องจากในโซนนี้มีผลกระทบด้านจราจรค่อนข้างมาก ทำให้ต้องเปิดทางให้รถสามารถเข้ามาใช้บริการได้เช่นเดิม อาทิ ช่วงที่รถหนาแน่นจะปิดจราจร 2 เลน ส่วนช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็นจะเปิดช่องทางพิเศษให้เพื่อระบายรถ โดยแต่ละโซนจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี
จากวิกฤติข้างต้น “ทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์” อายุ 62 ปี ยอมรับว่า การไปส่งหลานที่โรงเรียนหอวังทุกเช้า จะต้องออกจากบ้านเร็วขึ้น 15-30 นาที จากเดิมออกจากบ้านเวลา 05.45 น. แต่ขณะนี้ต้องออกเวลา 05.30 น. โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดีรังสิต เลี่ยงรถติดที่แยกรัชโยธิน เพื่อจะไปถึงโรงเรียนส่งหลานสาวให้ทันในช่วงเวลา 7 โมงกว่าๆ แต่การสร้างรถไฟฟ้าก็มีความจำเป็น คนใช้รถยนต์ก็ต้องใช้เวลาปรับตัว โดยอาจจะเลี่ยงเส้นทางที่รถหนาแน่น เลี่ยงเส้นทางลัดที่ตำรวจบอกไว้ เพื่อที่จะไม่ไปติดรวมกันอีก ดังนั้นในช่วง 1-2 เดือนแรกอาจจะทรมานมาก อาจจะหงุดหงิด แต่คนกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาปรับตัวระยะแรกอีก 4-6 เดือน ถ้ารู้ตัวว่าจุดไหนจะติดตะบี้ตะบันก็ไม่ต้องไป
“ส่วนคนที่อยู่เส้นทางอื่นก็ต้องปรับตัวไปด้วย เพราะกรุงเทพฯ หนีไม่ได้กันอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าการอดทนเพื่อรอสร้างรถไฟฟ้าอย่างไรก็คุ้ม รถไฟฟ้าหลายเส้นทางได้ผล เพราะการจราจรในกรุงเทพฯ มีรถเยอะ จะไปสร้างถนนเพิ่มอย่างไรก็ไม่ได้ผล แต่การมีรถไฟฟ้าจะเป็นอีกทางเลือกให้คนกรุงเทพฯ ได้ หรือถ้าจะแก้จราจรต้องลดจำนวนรถยนต์ กรมขนส่งทางบกต้องจำกัดโควตาให้บริษัทรถยนต์ป้ายแดงที่ออกมาในแต่ละเดือน เพื่อให้จำนวนรถออกมาวิ่งบนถนนช้าลง” เสียงสะท้อนจากผู้ใช้ถนน
ทั้งหมดจึงเป็น “คู่มือติดรถ” สำหรับคนกรุง ไว้สำรองทางหนีทีไล่ ระหว่างอดทนกัดฟันรอไปจนกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว(เหนือ) จะเปิดใช้บริการเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
เส้นทางลัดฝ่าวิกฤติแยกรัชโยธิน
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดแผนผังให้ประชาชนใช้เส้นทางลัด “หนีรถติด” 5 เส้นทาง ดังนี้
เส้นทางที่ 1 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 21 ออกไปยังซอยวิภาวดี 30
เส้นทางที่ 2 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 23 ออกไปยังซอยวิภาวดี 32
เส้นทางที่ 3 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยรัชดาภิเษก 46 ออกไปยังซอยพหลโยธิน 33
เส้นทางที่ 4 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยรัชดาภิเษก 48 และ 46/1 ออกไปยังซอยพหลโยธิน 35
เส้นทางที่ 5 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 30 ออกไปยังซอยรัชดาภิเษก 36, 32, 30