เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการเร่งด่วนให้ ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช นำกำลังเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ บริเวณผาหัวสิงห์ ท้องที่ ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กรณีมีนักท่องเที่ยวชี้เป้า ว่าพบการก่อสร้างอาคารที่พักใกล้กับผาหัวสิงห์บริการนักท่องเที่ยว โดยมีการตั้งคำถามจากโลกออนไลน์ว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างอาคารที่พัก และแนวเขตพื้นที่ของรีสอร์ท ดำเนินการถูกต้องหรือไม่ และเป็นการบดบังทัศนียภาพอันสวยงามทางธรรมชาติของผาหัวสิงห์หรือไม่
ปฏิบัติการครั้งนี้นำโดย ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิกร ศิรโรจนานนท์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายทรงศักดิ์ กิตติธากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) นายวิทยา ณวิพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก และพันเอกพงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบีติการ ศปป4.กอ.รมน นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 3 (ภาคเหนือ) เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.18 (น้ำชุน) เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้เพชรบูรณ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 3 ภาคเหนือ เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาค้อ ตำรวจกองกำกับการ 4 บก.ปทส. และฝ่ายปกครองอำเภอหล่มเก่า เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล ลงพื้นที่ขยายผลดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ ระเบียบ และกฎหมาย โดยเฉพาะการเก็บบันทึกข้อมูล พยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงไปให้ถึงตัวผู้กระทำความผิด และนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง โดยตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ได้ร่วมกับหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.18 (น้ำชุน) ชุดปฏิบัติการป่าไม้พิเศษเพชรบูรณ์ ฝ่ายปกครองอำเภอหล่มเก่า และอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างรีสอร์ทที่กำลังดำเนินการก่อสร้างใหม่ 3 แห่ง บริเวณใกล้กับผาหัวสิงห์ ภูทับเบิก แต่ไม่พบผู้กระทำผิด จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหล่มเก่า
เรื่องนี้ทราบถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้สั่งการให้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) ลงพื้นที่ขยายผลนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
จากการตรวจสอบพบว่า สิ่งปลูกสร้างที่กำลังดำเนินการก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง อยู่ในพื้นที่ป่าตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 และเป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1a และจากการตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานสำรวจถือครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ปรากฏว่า ไม่มีผลการดำเนินงานสำรวจรังวัด และขึ้นทะเบียนบุคคลตามมติมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังไม่มีผู้ใด หรือหน่วยงานใดของรัฐได้รับอนุญาตตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 ตรวจสอบพื้นที่ไม่พบว่าอยู่ในพื้นที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จากการลงพื้นที่พบว่าจุดที่มีการบุกรุก ถือว่ามีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวและด้านสิ่งแวดล้อม ตัวผาหัวสิงห์อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนพื้นที่ทางเข้าโดยรอบอยู่ในเขตความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ในพื้นที่หน้าผาที่มีความลาดชันในเขตต้นน้ำชั้น 1 a ซึ่งจะไม่มีการอนุญาติให้มีก่อสร้างในเขตนี้ตามหลักวิชาการ ซึ่งในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเคยมีการบุกรุกมาแล้ว และมีการจับกุมดำเนินการคดีและใช้คำสั่ง คสช.ที่ 35/2559 โดยผ่านความเห็นชอบจากจังหวัดเพชรบูรณ์ดำเนินการรื้อถอน
ซึ่งครั้งนี้ก็จะยึดแนวทางแบบเดิมในการดำเนินการตามที่คณะทำงานให้ความเห็นชอบให้รื้อถอนออกไป ในส่วนของคดีความที่มีการจับกุมจำนวน 3 คดี ที่เป็นรีสอร์ทขนาดใหญ่ เท่าที่เห็นน่าเป็นห่วงในด้านสภาพแวดล้อมและหลักทางวิศวกรรม ซึ่งล่าสุดชุดพญาเสือ ชุดพยัคฆ์ไพร ได้ขยายผลเพิ่มเติมทราบชื่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วจะต้องเร่งจัดทำสำนวนเพิ่มเติมให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป เพื่อขยายผลให้ถึงที่สุดกับกลุ่มบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง และในระยะต่อไปได้มอบแนวทางให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมจัดทำแผนเชิงรุกในการออกลาดตระเวน โดยกำหนดให้ผาหัวสิงห์ภูทับเบิก เป็นพื้นที่พิเศษที่ต้องมีแผนงานที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกในลักษณะแบบนี้อีก
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่โดยภาพรวมของภูทับเบิก กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จะประสานบูรพาร่วมกับจังหวัดเพชรบูรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อกำหนดแนวทางให้ชัดเจนตามแผนงานที่วางไว้ในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการอยู่อาศัย ทำกินในรูปแบบต่างๆ ทั้งรีสอร์ท เกษตรกรรม ที่พักอาศัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวผู้มาใช้พื้นที่ให้มากที่สุด โดยจะให้ความสำคัญด้านการโซนนิ่งพื้นที่ตามหลักวิชาการ ให้มากที่สุด
สำหรับพื้นที่ภูทับเบิก ได้มอบให้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานการปฏิบัติรวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหา แนวทางการบริหารจัดการ เพื่อสรุปนำเสนอท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา ต่อไป
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นพื้นที่สูงหรือบริเวณที่อยู่ตอนบนของลุ่มน้ำ ที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้เป็นต้นน้ำลำธาร เนื่องจากมีลักษณะและสมบัติที่อาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง โดยส่วนมากเป็นเทือกเขาที่เต็มไปด้วยหุบเขา หน้าผา ยอดเขาแหลม หรือร่องน้ำจำนวนมาก ซึ่งปกคลุมหรือเคยปกคลุมด้วยป่าดงดิบ ป่าดิบเขา หรือป่าสนเขา หรือป่าชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยของพื้นที่ตั้งแต่ร้อยละ 60 ขึ้นไป มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ประกอบด้วยหินซึ่งให้กำเนิดดินที่ง่ายต่อการพังทลาย
ซึ่งมีมาตรการการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ โดยห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างแท้จริง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบำรุงรักษาป่าธรรมชาติที่มีอยู่ และระงับการอนุญาตทำไม้โดยเด็ดขาด และให้ดำเนินการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มงวดกวดขัน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินใดๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ ภายหลังปี พ.ศ. 2525 กำหนดให้ใช้มาตรการ บริเวณพื้นที่ใดที่ได้กำหนดเป็นลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ไว้แล้ว หากภายหลังการสำรวจพบว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือป่าเสื่อมโทรม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกป่าทดแทนต่อไปบริเวณใดที่มีราษฎรอาศัยอยู่ดั้งเดิมอย่างเป็นการถาวรแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดที่ทำกินให้เป็นการถาวร เพื่อมิให้มีการโยกย้ายและทำลายป่าให้ขยายขอบเขตออกไปอีก