วันนี้ (1 ก.พ.60) เป็นวันแรกที่ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นโครงการ จุฬา ซีโร่ เวสท์ โดยรณรงค์ให้ประชาคมจุฬาฯ ลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อปลูกจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง
สหกรณ์จุฬาฯ สาขา คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็น 1 ในร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ จุฬา ซีโร่ เวสต์ หรือ โครงการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับสหกรณ์และเซเว่นอีเลเว่นทุกสาขาในมหาวิทยาลัย ตั้งเป้าให้นิสิตและบุคลากรกว่า 4 หมื่น 5 พันคน ลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง
นางสาวสุจิตรา วาสนาดำรงดี หัวหน้าโครงการจุฬาฯ ซีโร่ เวสต์ บอกว่า ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ เกิดจากสาเหตุสำคัญคือขาดระบบลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลโดยตรงต่อ สภาพแวดล้อมเมือง คุณภาพชีวิตของประชากร ตลอดจน ปัญหาระบบนิเวศ และสภาวะโลกร้อน
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้น ปีละ 26 ล้านตัน หรือสร้างขยะเทียบกับน้ำหนักรถยนต์ วันละ 7 หมื่น 3 พัน 560 คัน โดบกรุงเทพมหานครเพียงพื้นที่เดียว สร้างขยะในสัดส่วน 14 เปอร์เซนต์ของขยะทั้งประเทศ หากเฉลี่ยเป็นรายบุคคล พวกเราสร้างขยะกันราววันละ 1 กิโลกรัม
เป้าหมายของโครงการ จุฬา ซีโร่ เวสต์ ซึ่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม เป็นเจ้าภาพดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564 คือ การลดปริมาณขยะเหลือทิ้งภายในมหาวิทยาลัย 30 เปอร์เซนต์ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกลดขยะตั้งแต่ต้นทาง และ สร้างระบบคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คณะทำงานยังคาดหวังว่า จะสามารถรณรงค์ให้พื้นที่พานิชยกรรมของมหาวิทยาลัย อย่างสยามสแควร์ ย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ งดใช้ถุงพลาสติก เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งนำร่องโครงการ ขณะนี้