เริ่มวันแรก ‘กล้องจับภาพ’คนผิดกฎจราจร พร้อมออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์แนบภาพถ่าย วันละ 300 ราย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 ก.พ.60 ที่สะพานลอยข้ามแยกเกษตร ฝั่งถนนวิภาวดี-รังสิต พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานจราจร ลงพื้นที่ตรวจการเริ่มใช้กล้องตรวจจับความเร็ว และผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรบนถนนวิภาวดี-รังสิต พร้อมดำเนินการออกใบสั่งผู้กระทำผิดกฎจราจรโดยใช้ภาพถ่ายและใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ เปิดเผยว่า ได้มาตรวจกล้องจับความเร็ว ที่สามารถตรวจจับได้ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สามารถบันทึกได้ทั้งภาพนิ่งและภาพวิดิโอ ซึ่งบนถนนวิภาวดี มีปัญหาของผู้ฝ่าฝืน คือ รถจักรยานยนต์วิ่งในช่องทางด่วน รถจักรยานยนต์ขับย้อนศร รถจักรยานยนต์วิ่งบนฟุตบาท วิ่งปาดทับเส้นทึบ และรถใช้ความเร็ว ขณะเดียวกันก็อาจปรับใช้กับการจัดการกับกลุ่มเด็กแว้น จากนั้นจะออกเป็นใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์แล้วส่งไปยังที่อยู่ของเจ้าของรถ ซึ่งผู้ที่ได้รับใบสั่งจะต้องชำระค่าปรับภายใน 7 วัน หากไม่ชำระจะมีใบเตือน แต่ถ้าหากยังไม่ชำระอีกภายใน 30 วัน ก็จะนำไปสู่การติดแบล็คลิสในการต่อทะเบียน ต่อประกันรถ การทำธุรกรรมกับรถในอนาคต
“สำหรับการชำระค่าปรับจากใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำได้ 3 ช่องทาง คือ สถานีตำรวจพื้นที่ถูกออกใบสั่ง เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย และตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย โดยมาตรการนี้จะเริ่มในทุกกองบังคับการ (บก.น.) ในสังกัดของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งปัจจุบันมีกล้องตรวจจับความเร็ว หรือ กล้องตรวจจับชนิดติดแบบตายตัว (Lane Check) ทั่วพื้นที่นครบาลทั้งสิ้น 14 ตัว คือกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จำนวน 5 ตัว และ บก.น.1-9 จำนวน 9 ตัว ส่วนพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 88 สน. จะมีกล้องภาพนิ่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรของท้องที่คอยจับภาพผู้กระทำความผิด ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่พบการร้องเรียนและปัญหาการจราจร” พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าว
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า มั่นใจมาตรการดังกล่าวจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาผู้ฝ่าฝืนการจราจร และการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรบนถนนวิภาวดี พื้นที่ สน.วิภาวดี พบว่า มีผู้ถูกออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 1,000 คน เฉลี่ยมีรถทำผิดกฎจราจรในพื้นที่นี้วันละ 300 กว่าคัน ส่วนความผิดที่พบบ่อย คือ ใช้ความเร็วเกินกำหนด และรถจักรยานยนต์วิ่งในช่องทางด่วน ส่วนภาพรวมที่พบการกระทำผิดบ่อย คือ รถจักรยานยนต์ขับย้อนศร รถจักรยานยนต์วิ่งบนฟุตบาท วิ่งปาดทับเส้นทึบ เบียดคอสะพาน และพื้นที่คับขัน นอกจากจะเป็นอันตราย ยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ส่งผลกระทบให้การจราจรติดขัดด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้ทำการสาธิตการใช้กล้องชนิดเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายภาพรถจักรยานยนต์วิ่งย้อนศร หลังจากนั้น รอง ผบช.น. ได้เดินทางไปยัง สน.วิภาวดี เพื่อตรวจสอบการทำงานของกล้องตรวจจับชนิดติดแบบตายตัว (Lane Check) ในการถ่ายภาพรถที่วิ่งฝ่าฝืนช่องทาง ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรต่างๆ รวมทั้งตรวจสอบขั้นตอนการส่งภาพจากกล้องมายัง สน.วิภาวดี เพื่อออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์