‘พลายคล้าว’ช้างพลาย ที่จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่งถูกคนร้ายฆ่าตายตัดเอางาไปขายอย่างน่าสลด เมื่อ11ก.ค.
ประเทศไทยแย่อีกแล้ว เสี่ยงโดน “ไซเตส” สั่งห้ามค้าขายสัตว์และพืชป่าใกล้สูญพันธ์ุระหว่างประเทศ
“ส่ายหัว” ไทยปล่อยปละละเลย แก้ปัญหาลักลอบค้างาช้างมานาน พร้อมขีดเส้นตายให้เวลาแค่ปีเดียว..
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 12 ก.ค. ว่า ประเทศไทยกำลังเสี่ยงที่จะถูกห้ามค้าขายสัตว์ป่าและ
พืชป่าใกล้สูญพันธ์ุกับนานาชาติ หากไม่รีบควบคุม ปัญหาการลักลอบค้างาช้างได้สำเร็จ
เมื่อคณะกรรมการขององค์กรอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่
ใกล้สูญพันธุ์ หรือ Convention on International Trade in Endangered Species of Wild
Fauna and Flora (CITES, ไซเตส) ได้ออกแถลงการณ์เตือนดังกล่าวต่อประเทศไทย
เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
“เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่ทางการไทยไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อควบคุมการลักลอบค้างาช้าง
อย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง ทั้งที่มีการลักลอบขายงาช้างในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายมานาน”
นายออยสตีน สโตร์เคอร์เซน ประธานองค์กรไซเตส ชี้แจงเหตุผล
ขณะเดียวกัน องค์กรไซเตสยังขีดเส้นตายให้เวลาประเทศไทย ดำเนินมาตรการป้องกันควบคุม
การลักลอบค้างาช้างให้สัมฤทธิผล ภายในเวลาแค่ปีเดียว หรือจนถึงเดือน ส.ค. 2558 นี้เท่านั้น
พร้อมมีคำสั่งให้ทางการไทยเสนอรายงานเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมป้องกันการลักลอบ
ค้างาช้างต่อไซเตส ในเดือน ม.ค.ปีหน้า
“หากไม่มีผลออกมาในแง่บวก เกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายในการควบคุมการลักลอบ
ค้างาช้างอย่างเข้มงวดมากขึ้นแล้ว ประเทศไทยจะเผชิญหน้ากับการถูกห้าม และระงับการค้าขาย
สัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธ์ุทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนถึง 35,000 รายการ ตามบัญชีของไซเตส”
ประธานองค์กรไซเตส กล่าว พร้อมชี้ว่า สำหรับเขาแล้ว คิดว่านี่คือการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าว
ต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ การตัดสินใจออกแถลงการณ์เตือนประเทศไทยดังกล่าว มีขึ้นขณะคณะกรรมการไซเตส
สรุปผลการประชุมในวันสุดท้าย หลังร่วมประชุมกันมานานนับสัปดาห์ที่นครเจนีวา และประเด็น
เกี่ยวกับการลักลอบค้างาช้าง ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ไซเตสมีความวิตกกังวลมานาน อีกทั้ง
เมื่อต้นสัปดาห์ นายจอห์น สแคเนียน หัวหน้าไซเตส ยังกล่าวถึงปัญหาการลักลอบค้างาช้างว่า
อาจถึงกับทำให้ช้างในพื้นที่บางส่วนของทวีปแอฟริกาหมดสิ้นไป หากประเทศในแอฟริกา
เหล่านั้นไม่พยายามป้องกันการลักลอบค้างาช้าง.