68ปีวันชาติกะเหรี่ยงชาวบ้านกว่า3พันเข้าร่วม รองผบ.สส.KNUชี้เจรจาสันติภาพไม่คืบเหตุ รบ.อองซานซูจีสั่งกองทัพไม่ได้เตรียมเลือกคณะบริหารชุดใหม่-กำหนดระเบียบการลงทุน
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ที่กองบัญชาการเดะปูโหน่ รัฐกะเหรี่ยง ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู โดยกองพล 5 ได้มีการจัดงานวันชาติกะเหรี่ยงปีที่ 68 ขึ้น โดยมีพิธีสวนสนามและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 3,000 คน
พลเอกบอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเคเอ็นยู ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างเคเอ็นยูกับรัฐบาลพม่าว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางอองซานซูจี ยังไม่สามารถสั่งกองทัพพม่าได้ แม้ว่ารัฐบาลอาจต้องการดำเนินกระบวนการสันติภาพกับกองกำลังชาติพันธุ์ แต่กองทัพพม่าก็ยังดำเนินการตามแนวทางเดิม รัฐบาลพม่าไม่สามารถคุมกองทัพและสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในพื้นที่รัฐชาติพันธุ์
พลเอกบอจ่อแฮกล่าวว่า เมื่อกลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีการพบกันเพื่อหารือระหว่างกองกำลังติดอาวุธในรัฐกะเหรี่ยง และตัวแทนรัฐบาลพม่า ที่เมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ในการพูดคุยดังกล่าว กลุ่มกะเหรี่ยงร่วมกันยื่นข้อเสนอในการหารือเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1.การจัดการที่ดิน 2.เศรษฐกิจภายในรัฐกะเหรี่ยง 3.การเเมือง 4.ความมั่นคงทางการทหาร แต่เรื่องสุดท้ายรัฐบาลพม่าไม่ยอมคุยด้วย โดยมีการเจรจาเพียง 3 เรื่องแรกเท่านั้น สำหรับเคเอ็นยู ได้กลับมาหารือเรื่องนี้ เห็นร่วมกันว่าปัญหาของการเจรจาสันติภาพในพม่าเวลานี้ คือกองทัพพม่าไม่ยอมฟัง ไม่เปิดให้เจรจาอย่างจริงจัง เคเอ็นยูต้องการพัฒนาทางการทหารร่วกับกองทัพพม่า แต่กองทัพพม่าไม่ยอม กองทัพพม่าอยากให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการเท่านั้น นี่เป็นสาเหตุทำให้การเจรจาสันติภาพดำเนินไปต่อไม่ได้
รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเคเอ็นยูกล่าวด้วยว่า เรื่องการส่งกลับผู้ลี้ภัยนั้น เวลานี้ เคเอ็นยูยังไม่สามารถวางนโยบายชัดเจนได้ เนื่องจากยังไม่สามารถหารือกับรัฐบาลพม่าและองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้ ที่ผ่านมาเคเอ็นยูได้ดำเนินการสำรวจจำนวนผู้พลัดถิ่นในประเทศ และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการกลับคืนถิ่นฐาน ในพม่า ซึ่งเรื่องนี้ต้องหารือร่วมกันกับรัฐบาลไทย รัฐบาพม่า และองค์กรต่างประเทศ
“เมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่มีการส่งกลับผู้ลี้ภัย ทางเคเอ็นยูไม่ได้รับเรื่อง เป็นการปฏิบัติโดยไม่มีกลุ่มองค์กรกะเหรี่ยงเข้าร่วมกระบวนการด้วย ผู้ลี้ภัยที่กลับไปยังพม่านั้นไม่ใช่ชาวกะเหรี่ยง เป็นอดีตนักศึกษาพม่ารุ่นปี 1988 ส่วนชาวกะเหรี่ยงที่ส่งไปกลับนั้น เป็นผู้ลี้ภัยจากเศรษฐกิจ ไม่ใช่ผู้หนีภัยสงคราม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหารืออย่างมีส่วนร่วม ครั้งก่อนนี้ขนาดคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง (Karen Refugee Committee) ก็ยังไม่รู้เรื่อง”พลเอกบอจ่อแฮ กล่าว
รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเคเอ็นยูยังกล่าวถึงกรณีที่จะมีการประชุมใหญ่เคเอ็นยูในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ว่า โดยหลักการแล้วจะยังคงนโยบายหลัก แม้ว่าใครที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารก็ตาม แต่ต้องมีการทบทวนปรับแก้แนวทางปฏิบัติ การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในรัฐกะเหรี่ยงในช่วง 4 ปีนี้ เพราะเข้ามาเร็วมาก แต่ยังไม่มีการกำหนดข้อระเบียบต่างๆ ให้พร้อมรับมือการลงทุนดังกล่าว