นับจากที่สมาชิกรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกฯ เมื่อ 13 ก.ค. เพราะได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ ขณะนั้นคือ 375 เสียงจากทั้งหมด 749 เสียง (ส.ว.ลาออก 1 คน) โดยได้เสียงเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง
ในจำนวนเสียงที่เห็นชอบมีส.ว.เพียง 13 คน จากที่ต้องการเสียงส.ว.ช่วยโหวตถึง 51 คนเพื่อส่งนายพิธา เป็นนายกฯ
ทัวร์จึงแห่ไปลงส.ว.ที่งดออกเสียง ส.ว.ที่ไม่เห็นชอบ
ขณะเดียวกันมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนเพื่อกดดันส.ว. ให้เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนในนาม แนวร่วมประชาธิปไตย รวมพลคาร์ม็อบที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อ่านแถลงการณ์ประณาม ส.ว.ที่ไม่ลงมติไปตามฉันทามติส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ
เรียกร้องให้ ส.ว.ที่ไม่ทำหน้าที่ลงมติเห็นชอบตามเสียงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด
เรียกร้องให้ 8 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย ผนึกกำลังให้เหนียวแน่นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
เรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศออกมาต่อสู้กับแนวร่วมประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
นายอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ยังส่งเสียงไปถึง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขอให้แสดงจุดยืนชัดเจนสนับสนุนนายพิธา รวมถึง เรียกร้องให้ ส.ส.ทุกพรรคการเมือง ร่วมกันแต่งชุดดำไปทำงานทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป เพื่อไว้อาลัยให้กับ ส.ว.และคนที่ ไม่โหวตหนุนนายพิธา ในรอบที่สอง
นายธัชพงศ์ แกดำ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ประกาศให้ แนวร่วมเตรียมตัวชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งจะมีการโหวตเลือก นายกฯ ครั้งที่สอง ขอให้รอสัญญาณจากทางแกนนำว่าจะมีการนัด เคลื่อนขบวนไปสถานที่ใด
ส่วน คณะกรรมาธิการการเมืองและส่งเสริมประชาธิปไตย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ออกแถลงการณ์ประณามการลงมติเลือกนายกฯ ของสมาชิกรัฐสภาที่ขัดต่อเจตจำนงของประชาชน
ขอยืนยันอย่างหนักแน่นและขอเรียกร้องให้พวกท่าน “เห็นหัวประชาชน” เลิกคิดว่าประชาชน “ถูกยุยงปลุกปั่น” โดยฝ่ายการเมือง และจงใช้สิทธิของท่านออกเสียงลงมติเลือกผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยไม่มีข้อแม้
ด้าน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์นัดหมายชุมนุม 19 ก.ค. โดยยังไม่ประกาศสถานที่ โดยระบุว่า ได้เวลารวมพลังเพื่อ “ทวงคืน” เผด็จการและกลุ่มชนชั้นนำไม่กี่ % ของประเทศขโมยเวลา ขโมยโอกาส ขโมยอนาคตพวกเรามาตลอดในระยะเวลากว่า 9 ปี ซ้ำร้ายวันที่พวกเราชนะการเลือกตั้ง ก็พยายามหาข้ออ้างสารพัดเพื่อมาใช้ปัดตกฉันทามติของประชาชน
บัดนี้ เราจะไม่ทนอีกแล้ว เราจะขอทวงคืนเวลา 9 ปีที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะแสดงออกว่าประเทศนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ให้พวกเขาได้ระลึกถึงหน้าที่ ว่าสิ่งที่ พวกท่านต้องเคารพเป็นหลักนั้น คือมติของประชาชน
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมือง ออกมากระตุ้นว่า “เราปล่อยให้ ส.ว.มีอำนาจกำหนดประเทศได้อย่างไร?
ในเมื่อระบอบประชาธิปไตยผู้ที่มีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แล้วประชาชนได้ไปโหวตเลือกตัวแทนของเขาที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาและเลือกกันเองเพื่อที่จะเป็นฝ่ายบริหาร เมื่อรวบรวมได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกมาก็ควรได้ข้อสรุปว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศใครเป็นฝ่ายบริหาร
ส.ว.ซึ่งถูกเลือกมาจาก คสช. ซึ่งนอกจากไม่ยึดโยงกับประชาชนแล้ว ยังเป็นกลุ่มคนที่ปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชน การอ้างว่า ส.ว.เป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีบทเฉพาะกาลให้ทำหน้าที่ในการเลือก นายกฯ นั้น เป็นตรรกะทุเรศ เป็นสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นสัญญาที่ฉ้อฉล และขัดแย้งกับหลักการหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ในเมื่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้เลือกตัวแทนของตนเองแล้ว แต่ ส.ว.ออกเสียงแย้งกับการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน นี่เป็นพฤติกรรมหลักล้างหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้นการกระทำดังกล่าวของ ส.ว. ที่ขัดขวางการเลือกของประชาชน จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการประชาธิปไตย
เราปล่อยให้เศษซากเผด็จการเหิมเกริมอยู่เช่นนี้ได้อย่างไร เราจะยกประเทศให้คนพวกนี้ปกครองและชี้ขาดความเป็นไปของชาติได้อย่างไร
มีเพียงหนทางเดียวที่ความถูกต้องและสังคมจะกลับสู่ความปกติได้คือ เจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ต้องออกมาแสดงเสียงของคุณอีกครั้งบนแผ่นดินไทยนี้
“เตรียมรองเท้าผ้าใบของตนเองไว้ให้พร้อม รอวันนัดหมายที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้” นายสมบัติระบุ
จึงต้องจับตา 19 ก.ค. ม็อบกดดันส.ว.ให้โหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากของประชาชน จะจัดเต็มแค่ไหน