กสทช.ผุดโมเดลต้นแบบ ซ.สายลม ถนนตัวอย่างจัดระเบียบโทรคม คาดเสร็จ มี.ค. ก่อนเปิดตัว เม.ย. กำหนด 5 เส้นทางใหม่นำสายลงดินรับนโยบายรัฐ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประชุมร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ครั้งล่าสุดเมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีมติสร้างถนนตัวอย่างเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการตัดระเบียบสายโทรคมนาคม
โดยเลือกซอยพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) ดำเนินการ เพราะเป็นที่ตั้งของสำนักงาน กสทช. ซึ่งสามารถจัดระเบียบได้ ซึ่งรูปแบบจะจัดระเบียบสายที่พาดอยู่ให้เรียบร้อยเป็นระเบียบ จัดเก็บสายที่ไม่ได้ใช้งาน ตัดสายเคเบิลทีวีที่ไม่ได้อนุญาตออกหมด ขณะนี้เริ่มโครงการแล้ว คาดว่าจะเสร็จเดือนเม.ย.นี้
“ตามที่ประชุมกันมา จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือเอาสายลงดิน และจัดระเบียบสาย ซึ่งพื้นที่ไหนหรือถนนเส้นใดที่นำสายลงดินได้จะนำวิธีการจัดระเบียบสายมาใช้แทน ซึ่งจะให้ซอยสายลมเป็นโมเดลต้นแบบ”
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธ.ค. 2559 ตามที่มีแผนการนำสายโทรคมนาคมลงดินใน 5 เส้นทางใหม่ ประกอบด้วย 1. ถนนเพชรบุรี ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ถึงถนนบรรทัดทอง 2. ถนนโยธี ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ถึงซอยเสนารักษ์ 3. ถนนศรีอยุธยา ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ถึงถนนพญาไท 4. ถนนราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงถนนศรีอยุธยา และ 5. ถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่แยกปทุมวันถึงแยกกษัตริย์ศึก
การหารือดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการนำสายโทรคมนาคมลงดินประสบความสำเร็จแล้ว หลังจากสำนักงาน กสทช. และ 4 องค์กร ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และบมจ. ทีโอที ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน
เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานในวันนี้จึงดำเนินการหักเสาไฟฟ้าตั้งแต่แยกตึกชัยถึงราชวิถี 15 ซึ่งเป็นเส้นทางแรกจากทั้งหมด 6 เส้นทาง โดยดำเนินการเสร็จเมื่อปี 2559
พร้อมกันนี้ กสทช.ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับสำนักงานกำกับนโยบายพลังงาน โดยจะกำหนดเป็นแผนเร่งรัดการนำสายโทรคมนาคม ซึ่งจะลงพื้นที่ตรวจสอบว่าต่อไปพื้นที่ใดจะนำสายลงดิน ที่ใดนำสายเคเบิลทีวี สายอินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้รับอนุญาตมาพาดหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 เดือนจึงเสร็จ
กสทช. ได้จัดทำร่างประกาศ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้ การลงทุน และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน หรือกับโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ใช้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. … และประกาศการกำหนดอัตราค่าบริการการเช่าใช้ท่อร้อยสาย ซึ่งได้รับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) แล้ว รอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา