การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องยืดเยื้อออกไป โดยรัฐสภาจะมีการนัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
รวมทั้งสถานการณ์เลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะความกังวลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและการจัดทำงบประมาณปี 2567
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะเป็นช่วงการทำหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ โดยประเมินว่าถ้าตั้งไม่ได้จนถึงเดือน ต.ค.2566 และเกิดการประท้วงจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับ 2.5-3.0%
ทั้งนี้ หากมองในแง่บวก การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว และทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้มีโอกาสเศรษฐกิจขยายตัว3.6-4.0% ก็อาจเป็นไปได้ หากไม่มีการประท้วงนอกสภาฯ
นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองเป็นปัจจัยต่อเศรษฐกิจ โดยผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เพราะจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเป็นความกังวลควบคู่ไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อผู้บริโภคว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและจะส่งกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยในที่สุด
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากการเมืองที่ยืดเยื้อ มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน จากเดิมที่เศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นหากยิ่งไม่มีความชัดเจน จากการจัดตั้งรัฐบาล อาจมีผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุน ทั้งในตลาดหุ้น และการลงทุนของเอกชนให้ชะลอตัวได้
โดยขณะนี้แรงขับเคลื่อนเดียวของเศรษฐกิจไทย คือการท่องเที่ยว แต่หากสถานการณ์ลากยาว แถมลามให้เกิดการประท้วง จนนำไปสู่ความไม่สงบในประเทศ เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวทันที ยิ่งเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
“วันนี้เราแทบไม่เหลือ แรงหนุนเศรษฐกิจ ยิ่งมีผลกระทบเข้ามาอีก จากความไม่แน่นอนทางการเมือง การประท้วง กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนแน่นอน ในอดีตพอมีปัญหาทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้น คือการชะลอการบริโภค การท่องเที่ยว ดังนั้นน่าห่วง”
“ซีไอเอ็มบี”เปิด3ผลกระทบจากการเมือง
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันต้องจับตาใกล้ชิดวันต่อวัน และวันนี้อาจเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าข้อสรุปจะไปทิศทางไหน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามบนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าการเมืองไทยอาจถึงทางตัน ที่ไม่สามารถเลือกนายกได้ จนไม่สามารถมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศลากยาวออกไป เชื่อว่าผลกระทบจะมี 3ด้าน
1.กระทบการลงทุนภาครัฐที่อาจหดตัวกว่าที่คิด จากเดิมที่คาดรัฐบาลตั้งใน ส.ค.นี้ หากเลื่อนไปไม่ทันไตรมาส 3 หรือหากลากยาวถึงปลายปีหรือปีหน้า จะกระทบการใช้จ่ายภาครัฐและงบประมาณภาครัฐที่จะไม่มีแรงขับเคลื่อนส่วนนี้เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจไม่เห็นการลงทุนใหม่จากภาครัฐ รวมถึงกระทบการก่อสร้างของภาคเอกชนให้ชะลอตัว