เอพี สื่อชื่อดังต่างประเทศ รายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจพิเศษ คำสั่งฝ่ายบริหาร หรือ อำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร เป็นสิทธิพิเศษโดยตรงของฝ่ายบริหารที่ระบุตามบัญญัติมาตรา 2 ประโยค 1 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่ามีผลเช่นเดียวกับกฏหมาย โดยไม่จำเป็นต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
อำนาจพิเศษ ถือเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2332 มีอายุเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ จอร์จ วอชิงตัน ผู้นำสหรัฐฯคนแรก จนถึง บารัค โอบามา ผู้นำประเทศคนที่ 44 ได้มีการใช้อำนาจพิเศษ รวมกันมากกว่า 13,000 ครั้ง ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ใช้อำนาจดังกล่าวไปแล้ว 4 ครั้ง รวมถึงร่างบันทึกอีก 8 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่รับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อำนาจพิเศษของผู้นำสหรัฐฯ แม้จะมีข้อจำกัดไม่ชัดเจน แต่อำนาจตุลาการโดยศาลฎีกา เป็นสถาบันเดียวที่สามารถยกเลิกอำนาจนี้ได้ตลอดเวลา แม้จะประกาศใช้ไปแล้วก็ตาม ถ้าหากว่าตรวจสอบแล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่กรณีของสภาคองเกรส ในทางทฤษฎีสามารถขัดขวางการใช้อำนาจผู้นำสหรัฐฯได้ ผ่านการตัดงบประมาณสนับสนุนการใช้อำนาจดังกล่าว แต่ผู้นำมีสิทธิใช้อำนาจ วีโต้ หรือ การยับยั้งอำนาจ ได้เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาของรัฐบาล กรุงวอชิงตัน เคยคว่ำอำนาจพิเศษของผู้นำมาแล้ว 2 ครั้ง ด้วยการใช้อำนาจพิเศษของ แฮร์รี่ เอส. ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2495 ซึ่งต้องการเข้ามาควบคุมการผลิตของโรงงานเหล็กกล้าในประเทศ หลังพบการประท้วงครั้งใหญ่ของผู้ใช้แรงงาน ขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามเกาหลี โดยกองทัพสหรัฐฯ ต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการตีตกการใช้อำนาจพิเศษของ บิล คลินตัน ผู้นำสหรัฐฯ เมื่อปี 2538 เนื่องจากต้องการป้องกันไม่ให้รัฐบาลทำธุรกรรมร่วมกับ บริษัทจัดหาพนักงานสัญญาจ้าง
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ใช้อำนาจดังกล่าวมากที่สุดคือ แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 32 ใช้ไป 3,721 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง โดยเป็นช่วงที่อเมริกา มีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งมีการใช้อำนาจพิเศษที่สำคัญ และได้รับการยกย่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ การใช้อำนาจของประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ที่ประกาศเลิกทาส เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2406
getty images